< กลับหน้าหลัก

เกี่ยวกับ DV Learning

“ความรุนแรงในครอบครัว” (Domestic violence) เป็นรูปแบบหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในทุกสังคมและวัฒนธรรม แทรกตัวเป็นปัญหาเรื้อรังที่ฝังรากลึกถึงระดับโครงสร้างสังคมมาอย่างต่อเนื่อง

ก้าวสำคัญของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ทุกคนสามารถทำได้โดยตรง คือการร่วมกันยืนยันว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งหรือเรื่องส่วนตัวภายในครอบครัว แต่เป็นภารกิจร่วมกันของทุกคนและทุกภาคส่วนในสังคมที่ต้องขับเคลื่อนให้เราหลุดพ้นจากวงจรความรุนแรงนี้ไปด้วยกัน

DV Learning หรือ หลักสูตรอบรมออนไลน์เพื่อสร้างครอบครัวที่พักพิงอันปลอดภัย จึงเป็นอีกหนึ่ง Digital Learning พื้นที่แห่งการเรียนรู้สาธารณะ เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านความรุนแรงในครอบครัวและแนวทางเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวด้วยหลัก Survivor-centred approach หรือการยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ให้แก่ทีมสหวิชาชีพหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจ พร้อมแบบทดสอบประเมินผลการเรียนเพื่อรับใบประกาศนียบัตรออนไลน์ (e-Certificate)

จัดทำโดยความร่วมมือของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สถาบัน ChangeFusion และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสนับสนุนโดย ศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center : OSCC) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ SHero Thailand

จุดเด่นของหลักสูตร DV Learning

ครอบคลุมความรู้

เนื้อหาบทเรียนเน้นถอดองค์ความรู้พื้นฐานสำคัญเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากทุกวิชาชีพ ทั้งองค์กรด้านสังคม ด้านการสาธารณสุข และกระบวนการยุติธรรม ผ่านการบูรณาการและอ้างอิงข้อมูลจากทั้งมาตรฐานระหว่างประเทศและในประเทศ ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานลงลึกถึงรากปัญหาเพื่อสะท้อนมายาคติทางสังคมและวัฒนธรรม ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ตลอดจนนำเสนอสิทธิและกฎหมายของผู้เสียหายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาของผู้เสียหาย แนวทางการทำงานแบบสหวิชาชีพ การจัดการรายกรณี (Case Management) เป็นต้น

กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)

เน้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหา ด้วยการสอดแทรกแบบฝึกหัดในรูปแบบกิจกรรม Quiz-based game เก็บคะแนนเพื่อสะสมแต้ม ตลอดจนการนำเสนอผ่านกรณีศึกษาจริง พร้อมคำอธิบายเสริมทันทีทั้งกรณีที่ตอบถูกและตอบผิด เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดขั้นสูง (Higher-Order Thinking) ในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากบทเรียนกับสถานการณ์ที่หลากหลาย

สื่อประกอบการเรียนรู้ที่หลากหลาย

เนื้อหาสอดแทรกด้วยสื่อประกอบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งภาพประกอบ อินโฟกราฟฟิค (Infographic) แผนภูมิ ตาราง และคลิปวิดีโอ เพื่อเป็นสื่อกลางที่รวบรวมและย่อยสาระสำคัญในรูปแบบที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาแต่ละบทเรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ระบบที่ตอบโจทย์ผู้เรียน

รูปแบบเว็บไซต์การเรียนรู้ในลักษณะ Opensousce หรือระบบเปิดเอื้อให้ทั้งบุคคลทั่วไปและเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ด้วยช่องทางที่ง่ายและสะดวกผ่านหลากหลายอุปกรณ์ทั้ง PC Notebook และ Mobile devices โดยไม่ต้องลงทะเบียนก่อนเข้าสู่การเรียน พร้อมระบบนำทาง (Navigation) เพื่อให้ผู้เรียนเห็นเส้นทางการเรียนรู้ตลอดหลักสูตร และสามารถเลือกศึกษาในหัวข้อที่สนใจได้อย่างรวดเร็ว และออก e-Certification ได้ทันทีเมื่อผ่านแบบทดสอบ