< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส การดูแลตนเองสำหรับผู้ปฏิบัติงาน

โมดูลที่ 1 - การดูแลตนเองสำหรับผู้ปฏิบัติงาน

บทเรียนที่ 1 - การดูแลตนเองสำหรับผู้ปฏิบัติงาน


ผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว ต้องทำงานในแต่ละวันเพื่อรับฟังเรื่องราวความรุนแรงหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ต้องรับรู้อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของผู้เสียหาย และต้องต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติและความไม่เป็นธรรมทางเพศในสังคม

การทำงานในระบบโครงสร้างสังคมที่ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ เป็นงานที่มักต้องใช้ระยะเวลายาวนาน มีทรัพยากรในการให้บริการจำกัด และมีจำนวนคนทำงานไม่เพียงพอต่อสภาพปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือของผู้เสียหาย

ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ภาคสนามหรือผู้จัดการรายกรณีที่มีความใกล้ชิดกับผู้เสียหาย จึงมักจะเผชิญกับสภาวะต่าง ๆ เช่น

  1. หมดไฟในการทำงาน เนื่องจากทำงานหนักต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน มีภาระงานมากเกินไป
  2. วิกฤติศรัทธาในระบบการทำงานหรือสังคม
  3. บาดแผลทางใจมือสอง (Secoundary Trauma) เนื่องจากใช้เวลาในการรับฟังเรื่องราวความรุนแรง และรับรู้ความเครียด ความทุกข์ และอารมณ์ด้านลบอื่น ๆ ของผู้เสียหายอย่างต่อเนื่อง
  4. ภาวะผิดปกติทางอารมณ์ต่างๆ เช่น ภาวะเครียดรุนแรง หรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

ผู้ปฏิบัติงานจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพจิตใจและอารมณ์ แนวทางเบื้องต้นในการดูแลตนเอง คือ การทำความเข้าใจความหมายของสุขภาวะและการดูแลสุขภาวะ การสร้างขอบเขตในการทำงาน และการสื่อสารขอบเขตในการทำงานกับทีมงานและผู้เสียหาย

ในกรณีที่มีภาวะด้านลบต่างๆ ทางอารมณ์ ผู้ปฏิบัติงานควรแสวงหาการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญและองค์กร เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์ รวมทั้งอาจลางานเพื่อพักผ่อน และหากประเมินตนเองแล้วพบว่ามีความเครียดจากการทำงานมากเกินไป ก็อาจพิจารณาส่งต่อกรณีปัญหาให้ทีมงานรับไปดำเนินการแทน