คอร์ส การดูแลตนเองสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
โมดูลที่ 1 - การดูแลตนเองสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
บทเรียนที่ 2 - สัญญาณเตือนที่ผู้ปฏิบัติงานควรสังเกต
สัญญาณเตือนที่แสดงว่าการปฏิบัติงานกำลังมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจและสมดุลในชีวิตของผู้ปฏิบัติงานมีตัวอย่างดังนี้(1)
-
รู้สึกสิ้นหวัง หมดหวัง เกิดจากความคิดว่าเราไม่สามารถทำอะไรเพื่อหยุดความรุนแรงได้อย่างถาวร ไม่มีอะไรสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ปัญหาให้ดีขึ้นได้
-
ความรู้สึกว่าทำงานหนักเท่าไรก็ไม่เพียงพอ ต้องทำงานให้หนักมากขึ้นและไม่มีใครมาแทนที่เราได้ หากเราหยุดทำงานไป จะไม่มีใครมาทำแทน
-
รู้สึกว่าไม่มีเวลาและต้องเร่งรีบตลอดเวลา ทำทุกอย่างอย่างเร่งรีบ แม้แต่การกินและการนอน เพราะกลัวว่าจะไม่มีเวลาพอทำงาน และหากทำงานช้าก็อาจมีผลกระทบหรือเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น
-
ไม่มีเวลาให้กับความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีเวลาทำงานอดิเรกหรือสิ่งอื่นที่สนใจในชีวิต นอกจากการไปทำงาน กลับบ้าน ดูโทรศัพท์มือถือ และนอนหลับเพื่อตื่นมาทำงานอีกครั้ง
-
ไม่สามารถอธิบายหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ซับซ้อนได้ เช่น ไม่สามารถอธิบายถึงสิ่งที่ต้องการหรือไม่ต้องการพร้อมทั้งให้เหตุผลที่ชัดเจนได้ ไม่เข้าร่วมการสนทนาในเรื่องที่ละเอียดอ่อน
-
เกิดความเครียด และลดทอนความสำคัญของภาระที่ตนมีให้เป็นเรื่องเล็ก เช่น หากวันนี้ผู้ปฏิบัติงานถูกผู้กระทำความรุนแรงด่าทอขณะที่บังเอิญพบกันในสถานีตำรวจ ผู้ปฏิบัติงานอาจกลับมาบ้านและคิดกับตัวเองว่า ดีแล้วที่ตอนนั้นไม่ถูกทำร้ายร่างกาย และการถูกด่าทอเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ
-
รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา แม้แต่ในวันหยุด รู้สึกเพลีย ไม่มีพลังในการทำงาน
-
หลีกเลี่ยงการทำงาน เช่น ไม่เปิดอีเมล ปล่อยให้อีเมลและข้อความเกี่ยวกับงานขึ้นแจ้งเตือนและไม่เปิดอ่านทั้งที่ควรจะอ่าน ไม่รับสายโทรศัพท์
-
ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน หรือมีภาพสะท้อนของความรุนแรงโผล่ขึ้นมาในชีวิตประจำวัน เช่น เดินบนถนนเห็นแม่และเด็กก็นึกไปว่าแม่และเด็กที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนคู่นี้อาจเจอความรุนแรงในบ้านอย่างไร หรือมีบาดแผลซ่อนอยู่ตามตัวไหม หรืออาจมีสภาวะเหม่อลอย เช่น กำลังจอดรถหรือขับรถแต่ลืมไปในบางขณะว่ามาที่นี่ทำไม กำลังจะไปไหน หลีกเลี่ยงการพบเจอเพื่อน เดินไปเดินมาโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังเดินอยู่ เป็นต้น
-
ความรู้สึกไร้ประโยชน์ รู้สึกว่าตนไม่ได้ให้ความช่วยเหลือใครได้เลย ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเลย
-
ความรู้สึกผิด เช่น ในขณะที่นอนพักผ่อนโดยเปิดเครื่องปรับอากาศอยู่ที่บ้าน แต่กลับรู้สึกผิดว่าผู้เสียหายที่ตนทำงานด้วยกำลังต้องอยู่กับความยากจน อยู่ในบ้านที่มีความรุนแรง และไม่สามารถพักผ่อนอย่างสบายได้เหมือนตนเอง หรือรู้สึกผิดที่สามารถเลิกงานและกลับบ้านมาสู่ความสงบ ขณะที่ผู้เสียหายต้องอยู่ในความรุนแรงตลอดเวลา
-
ความหวาดกลัว กลัวสถานการณ์ความรุนแรงแบบที่ได้รับฟังจากผู้เสียหาย กลัวที่จะต้องรับมือกับอารมณ์และความกดดันในการทำงาน และความกลัวอาจเป็นความรู้สึกเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก
-
ความโกรธและความต้องการล้างแค้น อารมณ์ดูถูกเหยียดหยาม เป็นอารมณ์ด้านลบต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน และเป็นอารมณ์ที่ติดค้างอยู่ในใจ
-
เฉยชา ไม่สามารถรู้สึกถึงความเห็นอกเห็นใจ ไม่มีความรู้สึกยินดี มีความสุข หรือเศร้า
-
มีพฤติกรรมเสพติด เช่น ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือติดบุหรี่ ใช้สารเสพติดเพื่อช่วยให้สามารถทำงานได้ หรือช่วยคลายเครียดจากการทำงาน เช่น ก่อนการรับสายโทรศัพท์ในการทำงาน ต้องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยให้สงบใจก่อนรับสาย
-
รู้สึกว่าทั้งหมดของชีวิตคือการทำงาน สิ่งเดียวที่อธิบายตัวตนของตนเองได้คืองาน นอกจากการเป็นผู้ช่วยเหลือแล้วก็ไม่มีตัวตนในมิติอื่น ๆ อีกเลย
(1) Laura van Dernoot Libsky and Connie Burk, Trauma Stewardship: An Everyday Guide to Caring for Self while Caring for Other, Beret-Koehler Publishers, 2009.