คอร์ส การดูแลตนเองสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
โมดูลที่ 1 - การดูแลตนเองสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
บทเรียนที่ 5 - การมีความรักและความกรุณาต่อตนเอง
การมีความรักและกรุณาปรานีต่อร่างกายและจิตใจของตนเองทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความหนักแน่นทางอารมณ์ ส่งเสริมการสร้างสัมพันธภาพเชิงบวกกับผู้อื่น และทำให้มีความสามารถในการรับมือกับความทุกข์และสภาพแวดล้อมภายนอกที่เข้ามากระตุ้นเร้าจนเกินจะรับมือไหว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานกับความทุกข์ ความรุนแรง และงานสนับสนุนช่วยเหลือผู้เสียหาย(4)
ความกรุณาต่อตนเองอย่างแท้จริง มีองค์ประกอบหลัก 3 อย่างดังนี้(5)
- ความการุณย์ต่อตนเอง (Self-kindness) การไม่ตีตรา (Label) ตัดสินตนเอง (Self-judgment) ให้เวลาตนเองในการทำความเข้าใจและบรรเทาความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นกับตนเอง
- ความเป็นปุถุชน (Common Humanity) คือ การรับสภาพได้ว่าความผิดพลาดหรือความทุกข์อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ไม่มีใครที่ผิดอยู่ตลอดเวลา และไม่มีใครที่ถูกอยู่เสมอ ยอมรับพื้นฐานของความจริงว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ
- การครองสติ (Mindfulness) การตระหนักรู้ถึงอารมณ์ในปัจจุบัน จัดการสมดุลของอารมณ์ด้านบวกและลบได้
แนวทางการมีความกรุณาต่อตนเอง
- ทำความรู้จักตัวเอง เรียนรู้สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข สิ่งที่เราให้คุณค่า ใช้ในเวลาที่ผู้ปฏิบัติงานต้องดูแลตนเองเมื่อสภาวะจิตใจตึงเครียด
- ปล่อยให้ตัวเองมีอารมณ์ความรู้สึก เนื่องจากเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีภาวะอารมณ์หลากหลาย และในหลายครั้งเป็นการยากที่เราจะสามารถกดเก็บอารมณ์เอาไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหน้าผู้เสียหายที่มีความละเอียดอ่อน หรือท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง การรับรู้อารมณ์ของตนเองโดยไม่เก็บกดไว้ มีประโยชน์ในการประเมินว่าตนเองพร้อมในการทำงานหรือไม่
- นิยามความภาคภูมิใจในตนเองด้วยตัวเอง ซึ่งอาจทำให้ตระหนักรู้ว่าตัวเราอาจกำลังเปรียบเทียบความภาคภูมิใจของตนเองกับสิ่งอื่นอยู่หรือเปล่า แนวทางนี้มีประโยชน์ในการทำงานกับผู้เสียหายแต่ละกรณีที่มีความท้าทายแตกต่างกัน ความสำเร็จของการทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายอาจไม่ใช่การชนะคดี แต่เป็นการที่ผู้เสียหายปลอดภัย อาจไม่ใช่การตอบสนองต่อทุกความต้องการของผู้เสียหายได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่เป็นการใช้เวลาตอบสนองตามลำดับความสำคัญของแต่ละความต้องการตามที่ได้ร่วมวางแผนไว้กับผู้เสียหาย เป็นต้น ไม่มีแผนการทำงานใดที่เป็นแผนสำเร็จรูปที่สามารถคัดลอกมาใช้ได้กับทุกกรณี นิยามความสำเร็จของแต่ละการทำงานจึงแตกต่างกันออกไป
- ท้าทายความคิดลบที่มีเกี่ยวกับตนเอง ความคิดลบอาจมาโดยอัตโนมัติ การตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังมองตัวเองในด้านลบเป็นก้าวแรกที่ดี และตั้งคำถามว่าความคิดลบที่มีต่อตนเองนั้นจริงหรือไม่ เช่น ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานพบอุปสรรคในการทำงานเนื่องจากระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่กลับรู้สึกว่าเป็นเพราะตนเองพยายามไม่มากพอ ผู้ปฏิบัติงานอาจต้องกลับมาตั้งคำถามกับตนเองว่า ความรู้สึกเชิงลบที่มีต่อตนเองนั้นเป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานยังควรดูแลร่างกายของตัวเองโดยการนอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับมากหรือน้อยเกินไปมีผลต่อสภาวะอารมณ์ การทานอาหารที่ดี ทานอาหารตรงเวลา และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุลมีผลต่ออารมณ์และพลังงานในร่างกาย การขยับเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย การใช้เวลากับธรรมชาติเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี ไปจนถึงการพยายามตระหนักถึงสิ่งดี ๆ เฉลิมฉลองความสำเร็จ แม้ว่ามันจะเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ ก็ตาม
(4) จิตรา ดุษฏีเมธา. (2558). ความกรุณาต่อตนเอง:ทางเลือกใหม่เพื่อสร้างสมดุลความภาคภูมิใจในตนเอง. วารสารวิจัยและพัฒนาหลักสูตร, ปีที่ 5 (1), 25-38.
(5) Kristin D. Neff, Roos Vonk. (2009). Self-Compassion Versus Global Self-Esteem: Two Different Ways of Relating to Oneself. Journal of Personality, 77:1. จาก https://self-compassion.org/wp-content/uploads/publications/NeffVonk.pdf