< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส หลักการสำคัญในการทำงานกรณีความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 1 - หลักการสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว

บทเรียนที่ 1 - หลักสิทธิมนุษยชน (Human rights)


หลักการสิทธิมนุษยชน(2) หมายถึง หลักการที่ยึดถือว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน และต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ สัญชาติ เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา หรืออัตลักษณ์อื่นใด สิทธิมนุษยชนมีความเป็นสากล กล่าวคือ เป็นหลักที่นานาประเทศต่างยึดถือร่วมกัน

ความเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง (Autonomy) หมายถึง ความมีอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง มีศักยภาพที่จะพินิจพิจารณาด้วยตนเอง ตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกสิ่งใด เดินตามเส้นทางที่ตนเองให้คุณค่าและเชื่อถือ สำหรับขอบเขตความเป็นเจ้าของชีวิตของตนเองนั้น อาจกล่าวได้ว่า “เสรีภาพส่วนตัวของบุคคล สิ้นสุดลงเมื่อเสรีภาพส่วนตัวของผู้อื่นเริ่มขึ้น”

ความเป็นอิสระเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง (Women’s Autonomy) เป็นการเฉพาะเจาะจงให้ความหมายของความเป็นเจ้าของชีวิตของตนเองของบุคคลที่สังคมกำหนดให้เป็นเพศหญิง ซึ่งมีโอกาสถูกละเมิดมากกว่าคนที่สังคมกำหนดให้เป็นเพศชาย และถูกจำกัดอิสรภาพเนื่องจากความเป็นหญิง เช่น กฎหมายที่กำหนดให้การทำแท้งผิดกฎหมาย ถือเป็นกฎหมายที่กระทำความรุนแรงเชิงโครงสร้างต่อผู้หญิง เพราะเป็นการควบคุมและจำกัดเสรีภาพของผู้หญิงที่จะตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับสุขภาวะการเจริญพันธุ์ของตนเอง และความเป็นอิสระเหนือเนื้อตัวร่างกายของตนเอง เป็นต้น


(2) International Federation for Human Rights. Sexual and gender-based violence: A glossary from A to Z. FIDH.