< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส หลักการสำคัญในการทำงานกรณีความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 1 - หลักการสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว

บทเรียนที่ 2 - หลักการยึดถือผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (Survivor-centered approach)


แนวทางการทำงานที่มีผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง คือ กระบวนการการจัดการโดยผู้ให้บริการที่เชี่ยวชาญ เพื่อคุ้มครอง ดูแล และตอบสนองความต้องการของผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ โดยผู้เสียหายมีอำนาจในการตัดสินใจ การลำดับความสำคัญของขั้นตอนต่างๆ ทุกกระบวนการ และมุ่งตอบสนองความต้องการและคลายข้อกังวลของผู้เสียหาย(3)

แนวทางที่มีผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางนี้มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องเคารพสิทธิและความต้องการของผู้เสียหาย ให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของผู้เสียหาย ตลอดจนปฏิบัติต่อผู้เสียหายอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

ในการจัดการเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงในครอบครัว แนวทางการทำงานที่ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเต็มไปด้วยความเสี่ยงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้มาก จึงต้องระมัดระวังมิให้กระบวนการดำเนินการใดๆ กลายเป็นการกระทำความรุนแรงซ้ำ หรือทำให้ผู้เสียหายต้องหวนคิดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นและทำให้บาดแผลทางใจ (Trauma) ถูกกรีดซ้ำ

แนวทางที่มีผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง คือการคืนอำนาจและสิทธิเหนือชีวิตและร่างกายให้กับผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิด เพราะนอกจากจะมุ่งตอบสนองต่อความจำเป็นและความต้องการของผู้เสียหายแล้ว แนวทางนี้ยังช่วยเสริมอำนาจ (Empowerment) และฟื้นฟูจิตใจของผู้เสียหายไปด้วยในระหว่างกระบวนการช่วยเหลือ และในการทำงานตามแนวทางที่มีผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางนี้ ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความเข้าใจเป็นอย่างดี ว่าความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศไม่ใช่แค่การทำร้ายทางร่างกายเท่านั้น แต่เป็นความรุนแรงเชิงอำนาจ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกระทบถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เสียหาย

สิ่งสำคัญในการทำงานโดยยึดหลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง คือ การรับฟังด้วยใจ รับฟังเพื่อเป็นประจักษ์พยานประสบการณ์ รับฟังโดยไม่ตัดสิน และหลีกเลี่ยงการให้ผู้เสียหายต้องเล่ารายละเอียดความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า (re-traumatization) นอกเหนือจากการรับฟังแล้ว ผู้ทำงานสามารถช่วยสะท้อน สรุป และยืนยันอารมณ์ความรู้สึกและความจริงให้ผู้เสียหายฟัง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายทำความเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการของตนเอง และสื่อสารความต้องการที่แท้จริงของตนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรับทราบได้

แนวทางที่มีผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางวางอยู่บนพื้นฐานของปัจจัยต่อไปนี้(4)

  • ความปลอดภัย : ความปลอดภัยของผู้เสียหายและบุตรของผู้เสียหายคือสิ่งสำคัญที่สุดในการพิจารณาดำเนินการใดๆ
  • การรักษาความลับ : ผู้เสียหายมีสิทธิในการเจาะจงบุคคลที่ตนจะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังได้ และข้อมูลต่างๆ จะเปิดเผยได้ต่อเมื่อผู้เสียหายให้ความยินยอมแล้วเท่านั้น
  • ความเคารพ : การดำเนินการใดๆ ที่เกิดขึ้นควรอยู่บนฐานของการเคารพทางเลือก การตัดสินใจ ความต้องการ สิทธิ และศักดิ์ศรีของผู้เสียหาย บทบาทของผู้ช่วยเหลือคือการอำนวยการฟื้นฟูและมอบทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการช่วยเหลือผู้เสียหาย
  • การไม่เลือกปฏิบัติ : ผู้เสียหายควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สัญชาติ อายุ เพศ และชนชั้นทางเศรษฐกิจ

ข้อควรตระหนักรู้ในขณะทำงานโดยยึดหลักการให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง

  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละบริบท เพื่อทำความเข้าใจระบบบริการและกลไกการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่
  • ทราบถึงบริการและกลไกที่ใช้งานได้จริงในแต่ละพื้นที่ เช่น บ้านพักฉุกเฉิน บริการสาธารณสุข บริการสุขภาพจิต และคำนึงถึงความช่วยเหลือจากชุมชน เช่น โบสถ์ วัด กลุ่มซัพพอร์ทของชุมชน เป็นต้น
  • ผู้ปฏิบัติงานควรทำหน้าที่เป็นผู้ฟังโดยไม่ตัดสิน เป็นผู้ให้ข้อมูลบริการที่เป็นไปได้และใช้งานได้จริง ให้ผู้เสียหายตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง แสวงหาผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นมาเสริมข้อจำกัดขององค์ความรู้ของตนเอง เช่น จิตแพทย์ ผู้ให้คำปรึกษา เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ต่างๆ โดยก่อนการติดต่อบุคคลใดเพิ่มเติมต้องขอความยินยอมจากผู้เสียหายก่อนเสมอ
  • อย่าพยายามเป็นฝ่ายรุกหาผู้เสียหาย แต่ให้ผู้เสียหายขอความช่วยเหลือเข้ามาเมื่อเขาพร้อม
  • แจ้งข้อมูลบริการด้านต่าง ๆ ให้ผู้เสียหายทราบเสมอ โดยต้องเป็นบริการในพื้นที่ที่สามารถใช้งานได้จริง และแจ้งผู้เสียหายตามตรงหากไม่ทราบข้อมูลในเรื่องใด

การทำงานโดยยึดหลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางในระหว่างกระบวนการยุติธรรม

การช่วยสนับสนุนให้ผู้เสียหายได้ใคร่ครวญถึงความต้องการของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากความต้องการของผู้เสียหายอาจมีหลากหลายแตกต่างกันไป ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้เสียหายบางคนต้องการให้ความรุนแรงหยุดลง ต้องการได้รับความคุ้มครอง ต้องการความปลอดภัย หรืออื่น ๆ ผู้ปฏิบัติงานมีหน้าที่สนับสนุนและให้ข้อมูลอย่างซื่อตรงแก่ผู้เสียหาย

หากผู้เสียหายไม่ต้องการดำเนินคดีทางอาญา ผู้ปฏิบัติงานไม่ควรกดดันให้ผู้เสียหายดำเนินคดี ยกเว้นว่าเป็นความต้องการของผู้เสียหายเอง

ตามหลัก Survivor-centred approach ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้เสียหายคือสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยด้านสภาพจิตใจของผู้เสียหาย แม้การดำเนินคดีทางอาญาจะเริ่มขึ้นแล้ว แต่หากผู้เสียหายได้ทบทวนตนเอง และพบว่าสภาพจิตใจและสภาวะอื่นๆ ในชีวิตของตนไม่สามารถสนับสนุนให้ตนเองดำเนินการทางกฏหมายต่อไปได้อย่างปลอดภัย คดีความทางอาญาอาจต้องชะลอลงก่อน หรือหยุดลงตามความต้องการของผู้เสียหาย

ผู้ปฏิบัติงานอาจพิจารณาใช้การขอคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน บทเรียนที่ 5 กระบวนการทางกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัว) เพื่อให้ความคุ้มครองผู้เสียหายเป็นการชั่วคราวได้


(3) UNHCR (2020). Policy on a Victim-Centered Approach in UNHCR’s response to Sexual Misconduct.

(4) Community-based response in Minimum Standards for Prevention and Response to Gender-based violence in Emergencies. UNFPA