< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส หลักการสำคัญในการทำงานกรณีความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 1 - หลักการสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว

บทเรียนที่ 4 - หลักการการเสริมพลังภายใน (Empowerment)


หลักการการเสริมพลังภายในให้แก่ผู้เสียหาย เป็นหลักการการทำงานที่มีความละเอียดอ่อนมากกว่าการพูดให้กำลังใจหรือให้คำชมทั่วไป

หลักการ Empowerment เป็นหลักการที่เกิดจากความเข้าใจว่า ความรุนแรงคือการกระทำเชิงอำนาจ เป็นการที่ผู้กระทำใช้อำนาจที่ตนมีมากกว่า มากระทำความรุนแรงกับผู้เสียหายที่มีอำนาจน้อยกว่า การช่วยเหลือผู้เสียหายในทุก ๆ ขั้นตอนจึงเป็นการเสริมอำนาจให้บุคคลที่มีอำนาจน้อยและถูกกระทำความรุนแรงให้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น อำนาจอาจไม่ใช่เพียงแค่ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ หรือมาตรการทางกฎหมาย แต่รวมถึงกำลังใจที่เข้มแข็ง ข้อมูล ความรู้ และการที่ผู้เสียหายตระหนักรับรู้ว่ามีหน่วยงานและบุคคลที่พร้อมจะให้การช่วยเหลือ ทำให้ผู้เสียหายไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

การทำงานบนหลักการนี้ จำเป็นต้องเข้าใจคำว่า อำนาจ (Power) ที่ปัจเจกบุคคลมี แหล่งที่มาของอำนาจในสังคม และลักษณะการใช้อำนาจ

อำนาจ อภิสิทธิ์ และอัตลักษณ์

แหล่งที่มาของอำนาจ อาจเเบ่งเป็นสองประเภท คือ

  1. แหล่งอำนาจที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น เพศ สัญชาติ ฐานะของครอบครัว สถานะทางสังคมที่ส่งต่อมาจากพ่อแม่ ความพิการและความไม่พิการ ภาษาแม่ อำนาจประเภทนี้ตัวบุคคลไม่ต้องขวนขวายเพื่อให้ได้มา แต่อาจสูญเสียไปได้เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น บุคคลที่เกิดมาร่างกายสมบูรณ์ต้องกลายเป็นผู้พิการด้วยอุบัติเหตุ เป็นต้น

  2. แหล่งอำนาจที่สร้างขึ้นได้ เช่น การศึกษา ความรู้ พลังใจในชีวิต การเรียนรู้ภาษาอื่น การเก็บออมเพื่อขยับชนชั้นทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น หน้าที่การงาน อำนาจที่สร้างขึ้นได้นั้นรวมถึงอำนาจภายใน เช่น ความเข้มแข็ง ความกล้าหาญ และความไม่สยบยอมต่อปัญหา ความไม่เป็นธรรม หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตนเอง เป็นต้น

จะเห็นว่า ในการกล่าวถึงแหล่งอำนาจนั้น มีความคล้ายคลึงกับการอธิบายลักษณะของบุคคลหนึ่งๆ เช่น คนนี้เรียนจบจากสถาบันไหน มีอาชีพอะไร พ่อแม่เป็นใคร นามสกุลอะไร พูดได้กี่ภาษา เป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง หรือเป็น LGBTQIAN+ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าอัตลักษณ์ของบุคคล

อัตลักษณ์คืออะไร

อัตลักษณ์ คือ ความเป็นตัวตน ลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลหรือกลุ่มคน ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เช่น อัตลักษณ์ทางเพศ สีผิว ระดับการศึกษา ชาติพันธุ์

การจัดแบ่งอัตลักษณ์ของบุคคลตามแนวคิดในการทำงานเพื่อความเป็นธรรม ได้จัดแบ่งอัตลักษณ์ออกเป็นสองลักษณะ คือ อัตลักษณ์แบบที่มีอภิสิทธิ์หรืออัตลักษณ์กระแสหลัก (Dominant or mainstream identity) และลักษณะอัตลักษณ์แบบชายขอบ (Marginalized identity)(7)

การจัดแบ่งดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะสังคมมีการสร้างบรรทัดฐาน กติกา นโยบาย กฏระเบียบ การกระจายทรัพยากร ในแบบที่ถูกควบคุมและครอบงำโดยคนที่มีอัตลักษณ์กระแสหลัก ปัจจัยเชิงโครงสร้างนี้ทำหน้าที่สองอย่างไปพร้อมกัน หนึ่ง คือ การสร้างโอกาส ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์กระแสหลัก สอง คือ การกีดกัน ผลักไส ไม่นับรวมคนที่มีอัตลักษณ์ชายขอบเข้ากลุ่ม เพื่อกันไม่ให้คนชายขอบเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงกติกาของสังคม หรือแม้กระทั่งการแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มคนชายขอบโดยได้รับความชอบธรรมจากรัฐ ระบบและวัฒนธรรมในสังคม

1. อัตลักษณ์ชายขอบ (Marginalized identity)

หมายถึง อัตลักษณ์แบบที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือให้คุณค่าจากสถาบันหรือระบบต่างๆ ในสังคม เช่น ผู้หญิง สมาชิกชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนที่ไม่ได้มีชาติพันธุ์ไทย คนจนที่ประกอบอาชีพไม่มั่นคงและมีรายได้น้อย คนที่เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย คนที่ไม่ได้นับถือศาสนากระแสหลัก แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV เป็นต้น

2. อัตลักษณ์กระแสหลัก (Dominant or Mainstream identity)

หมายถึง อัตลักษณ์ที่สังคมให้คุณค่า ยกย่องนับถือ และเอื้อให้เข้าถึงโอกาส อำนาจ ทรัพยากร สวัสดิการและระบบบริการต่างๆ ได้ง่ายกว่า อภิสิทธิ์ของคนที่มีอัตลักษณ์กระแสหลักส่วนใหญ่เกิดจากการที่ระบบต่างๆ ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของสังคม เช่น ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย ต่างทำงานเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบในการกำหนดนโยบายและวิธีการในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์แก่กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์กระแสหลักเหล่านี้ ตัวอย่างอัตลักษณ์กระแสหลัก เช่น อัตลักษณ์ความเป็นเพศชาย การเป็นคนที่ไม่พิการ คนชนชั้นกลางและชั้นสูง คนมีอาชีพที่มีหลักประกันรายได้สูง และมีอำนาจและสถานภาพในสังคม คนจบการศึกษาสูง เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่แล้ว บุคคลหนึ่ง ๆ หรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง อาจมีทั้งอัตลักษณ์กระแสหลักและอัตลักษณ์ชายขอบปะปนกันอยู่ เช่น หากบุคคลนั้นมีเพศเป็นหญิง ความเป็นเพศหญิงอาจทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้นำ ไม่สามารถบวชได้ ถูกเลือกปฏิบัติ แต่ในขณะเดียวกัน หากเป็นผู้หญิงชนชั้นกลาง จบปริญญาโทหรือปริญญาเอก เป็นข้าราชการระดับสูง ก็อาจทำให้มีอำนาจ โอกาสและอภิสิทธิ์มากกว่าผู้หญิงคนอื่นๆ หรือมากกว่าผู้ชายที่เป็นกรรมกรรับจ้างที่ไม่มีสัญชาติไทย เป็นต้น

ยิ่งบุคคลมีอัตลักษณ์กระแสหลักหลายด้าน พวกเขาก็จะยิ่งมีอำนาจและอภิสิทธิ์มากขึ้น และยิ่งมีสถานภาพสูงในสังคม แต่หากบุคคลมีอัตลักษณ์ชายขอบหลายด้าน ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ถูกกดขี่ หรือเลือกปฏิบัติมากขึ้น การที่คนๆ หนึ่งมีอัตลักษณ์หลายด้านในตัวเอง ซึ่งมีผลต่อการกำหนดสถานะทางอำนาจเช่นนี้ เรียกว่า อัตลักษณ์ที่ทำให้เกิดการกดขี่ทับซ้อน (Intersectionality)


(6) อวยพร เขื่อนแก้ว (2558). เส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลง เพศและความเป็นธรรมบนฐานจิตวิญญาณและการเรียนรู้ด้วยหัวใจ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส).

(7) อวยพร เขื่อนแก้ว (2558). เส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลง เพศและความเป็นธรรมบนฐานจิตวิญญาณและการเรียนรู้ด้วยหัวใจ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส).