< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส หลักการสำคัญในการทำงานกรณีความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 1 - หลักการสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว

บทเรียนที่ 7 - อำนาจภายใน ขุมพลังของผู้เสียหาย


อำนาจภายใน หมายถึง ความสามารถหรือศักยภาพที่มาจากภายใน ที่บุคคลหรือกลุ่มคนมีอยู่ หรือหากไม่มีก็สามารถพัฒนาขึ้นได้ ซึ่งบุคคลหรือกลุ่มคนที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์กระแสหลักและมีแหล่งอำนาจภายนอกน้อย ก็สามารถสร้างอำนาจภายในขึ้นมาเพื่อใช้เผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคและความยุ่งยากต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับความกลัว ความสิ้นหวัง ความรุนแรง หรือความไม่เป็นธรรม เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้(9)

อำนาจภายในนี้เองที่ทำให้บุคคลและกลุ่มคนมากมายไม่สยบยอมและไม่สิ้นหวัง แม้ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากบุคคลที่มีอำนาจมากกว่า ทำให้คนเหล่านี้ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจที่ครอบงำ และเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง เปลี่ยนแปลงอีกฝ่ายและสังคม

คนที่มีแหล่งอำนาจภายนอกน้อย ไม่ได้มีสถานะทางสังคมหรือการศึกษาที่สูง แต่อาจเต็มไปด้วยอำนาจภายใน และสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น รวมถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ในทางกลับกัน บุคคลที่มีแหล่งอำนาจมากอาจมีอำนาจภายในน้อย และติดอยู่ในวังวนของความกลัวและความรู้สึกไม่มั่นคงได้

อำนาจภายในจึงเป็นความมั่นใจในตนเอง ความไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรมในสังคม ความกล้าหาญ ความรักในตนเอง ความรู้สึกว่าตนเองได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มคนที่เข้าใจ รวมไปถึงความตระหนักรู้ว่าตนเองไม่สมควรถูกกระทำความรุนแรง ไม่ใช่ความผิดของตนเองที่ผู้กระทำกระทำความรุนแรงกับตน

การเสริมอำนาจภายใน หรือการ Empowerment จึงมีได้หลายวิธี เช่น การรับฟัง การเชื่อมต่อผู้เสียหายเข้ากับบุคคลที่รักหรือคนที่ไว้ใจได้ การทำให้ผู้เสียหายรับรู้ว่ายังมีคนอื่นอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ทำให้ผู้เสียหายไม่รู้สึกโดดเดี่ยว การได้รับการปกป้องและสามารถทำตามความต้องการของตนเองได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ

ผู้ปฏิบัติงานที่ติดตามดูแลและให้การสนับสนุนผู้เสียหายอย่างต่อเนื่อง อาจค่อย ๆ เชื่อมต่อผู้เสียหายกับการสนับสนุนจากเครือข่ายสนับสนุนภายนอก เพื่อสนับสนุนให้ผู้เสียหายเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ จนถึงจุดที่สามารถจัดการความเป็นไปในชีวิตและเข้าถึงแหล่งทรัพยากรรอบข้างได้ด้วยตนเอง เช่น การพบนักจิตวิทยา การเข้าถึงกองทุนฉุกเฉิน สถานที่เลี้ยงเด็ก การพบปะพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์คล้ายคลึงกันโดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนกันและกัน เป็นต้น

หากผู้เสียหายมีอัตลักษณ์ชายขอบที่ทับซ้อนในรูปแบบอื่น หรือทับซ้อนมากกว่านี้ เช่น ไม่ได้มีสัญชาติไทย มีความพิการ ก็ต้องอาศัยการทำงานและดึงเครือข่ายสนับสนุนที่หลากหลายเข้ามาเสริมอำนาจของผู้เสียหายให้มากขึ้น


(9) อวยพร เขื่อนแก้ว (2558). เส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลง เพศและความเป็นธรรมบนฐานจิตวิญญาณและการเรียนรู้ด้วยหัวใจ. พิมพ์ครั้งที่ 2 (2558). สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส).