< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส หลักการสำคัญในการทำงานกรณีความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 1 - หลักการสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว

บทเรียนที่ 8 - หลักการให้บริการที่มีการดูแลบาดแผลทางใจ (Trauma-informed Care)


หลักการให้บริการที่มีการดูแลบาดแผลทางใจ หมายถึง แนวทางการทำงานที่ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจว่าผลกระทบของประสบการณ์ความรุนแรงต่อจิตใจและระบบประสาทเป็นอย่างไร เช่น การเล่าเรื่องราวไม่ต่อเนื่องและสบสัน ยากที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวเข้าด้วยกัน (สามารถศึกษาผลกระทบของประสบการณ์ที่รุนแรงต่อระบบประสาทและสมอง รวมไปถึงบาดแผลทางใจ หรือทรอม่า ได้ในบทเรียนที่ 3)

หลักการการดูแลบาดแผลทางใจ ประกอบด้วยหัวใจสำคัญ 6 ประการ คือ(10)

  1. ความปลอดภัย คือ การดูแลความปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจ เพื่อนำความรู้สึกปลอดภัยกลับคืนสู่ตัวผู้เสียหาย
  2. ความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อใจระหว่างผู้เสียหายและครอบครัวกับผู้ปฏิบัติงานและองค์กร
  3. การมีกลุ่มสนับสนุน หมายถึง การมีกลุ่มผู้ที่เคยมีประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดบาดแผลทางใจเช่นเดียวกันหรือผู้เสียหายคนอื่น ๆ ที่มารวมตัวกันเพื่อช่วยสร้างและแนะนำแนวทางการดูแลตนเอง สร้างความหวัง เป็นวิธีที่ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกปลอดภัยและไม่โดดเดี่ยว
  4. ความร่วมมือ และความเท่าเทียม เริ่มจากตระหนักถึงอำนาจที่แตกต่างกัน และใช้อำนาจร่วมในการทำงานกับผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายรู้สึกเท่าเทียม ความเท่าเทียมนี้ ควรหมายรวมถึงความเท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกันภายในองค์กรของผู้ปฏิบัติงานเองด้วย ทุกคนที่ทำงานสนับสนุนผู้เสียหายควรมีความร่วมมือกันเพื่อดูแลผู้เสียหาย
  5. การเสริมพลัง การแสดงความคิดเห็นและให้ทางเลือก หมายถึง การส่งเสริมความเข้มแข็งและอำนาจภายใน ให้ความร่วมมือและสนับสนุนให้ผู้เสียหายดูแลตนเอง และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้แก่ผู้เสียหาย
  6. การทำความเข้าใจวัฒนธรรมและค่านิยมเรื่องเพศในสังคม โดยเฉพาะวัฒนธรรมและค่านิยมที่เกี่ยวเนื่องและส่งผลต่อการเกิดความรุนแรงในสังคม

การดูแลบาดแผลทางใจนั้น เป็นหลักการที่เริ่มตั้งแต่ตัวผู้ปฏิบัติงานและองค์กรมีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลบาดแผลทางใจ ออกแบบการทำงานอย่างมีความรู้ความเข้าใจและคำนึงถึงการดูแลบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย (Realize) สังเกตเห็นสัญญาณของบาดแผลทางใจได้ (Recognize) และพยายามอยู่เสมอที่จะไม่กระทำซ้ำให้ผู้เสียหายถูกกระตุ้นบาดแผลทางใจขึ้นมาอีก (Resist re-traumatization)

การปฏิบัติตามหลักการการดูแลบาดแผลทางใจ ทำได้หลายวิธี เช่น ผู้ปฏิบัติงานสามารถดูแลสภาพจิตใจของผู้เสียหายในภาวะฉุกเฉินได้ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ระวังสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดสภาวะอารมณ์ทางลบหรือกระตุ้นความทรงจำในอดีตอันรุนแรงของผู้เสียหาย ส่งเสริมให้ผู้เสียหายได้พัฒนาฟื้นฟูอำนาจภายในของตนเอง และรับรู้เข้าใจว่าตนเองในปัจจุบันนั้นปลอดภัยและไม่ได้อยู่ในความรุนแรงแล้ว

เทคนิคในการดูแลบาดแผลทางใจสอดแทรกอยู่ในหลักการการ empowerment การดูแลสภาพจิตใจในภาวะฉุกเฉิน และการฟัง

เทคนิคอื่นที่สามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลบาดแผลทางใจ ได้แก่ การระมัดระวังสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้น ทั้งแสง สี และเสียง ยกตัวอย่างเช่น

  • การเตรียมสถานที่ที่ปลอดภัย เนื่องจากผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่มีภาวะทรอม่าจะมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือสถานที่ที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น สถานีตำรวจและศาล ไปจนถึงห้อง OSCC ในโรงพยาบาลก็อาจจะเป็นหนึ่งในสถานที่เหล่านั้น ความรู้สึกไม่ปลอดภัยนี้จะนำไปสู่อาการวิตกกังวลและความเครียด ดังนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยที่สุดจึงสำคัญอย่างยิ่ง
  • เตรียมสถานที่จอดรถและการเข้าสู่จุดที่รับบริการ รวมถึงการเตรียมการเดินทางมาพบผู้ปฏิบัติงาน เส้นทางเดินเข้าสู่สถานที่รับบริการ ห้องน้ำ ไปจนถึงทางออกและทางกลับบ้านที่ปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความรุนแรง เพื่อความสบายใจสูงสุดของผู้เสียหาย
  • หากจำเป็น ควรเตรียมพนักงานรักษาความปลอดภัยหรือผู้ช่วยเหลือที่จะช่วยพาผู้เสียหายเข้าและออกจากสถานที่ให้บริการอย่างปลอดภัย
  • ระวังพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ปฏิบัติงานที่อาจทำให้ผู้เสียหายรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น การสูบบุหรี่
  • ลดเสียงรบกวนลงให้มากที่สุด หาสถานที่ที่สงบเงียบ ผู้ปฏิบัติงานไม่ควรใช้เสียงดังหรือไมโครโฟน ควรปิดโทรทัศน์หรือวิทยุเนื่องจากสามารถเพิ่มระดับความเครียดให้ผู้เสียหายได้ และอาจเลือกใช้เสียงหรือดนตรีบำบัดที่ไม่ดังจนเกินไป
  • สถานที่ให้บริการควรมีสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ไม่มีสีสันที่แรงจัดจนเกินไป มีที่นั่งที่สะดวกสบายและอุณหภูมิที่พอดี
  • ช่วยผู้เสียหายเตรียมสิ่งของที่จะช่วยทำให้รู้สึกปลอดภัยและเป็นพลังใจ เช่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา หรือสิ่งของที่ทำให้นึกถึงความทรงจำที่ดี

ตัวอย่างคำถามเพื่อช่วยเหลือในการเตรียมรับมือกับบาดแผลทางจิตใจ และชวนให้ผู้เสียหายคิดถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย

  • สอบถามผู้เสียหายว่า ที่ผ่านมาผู้เสียหายดูแลตนเองอย่างไร
  • ชวนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ช่วยให้รู้สึกสงบ เหตุการณ์เชิงบวก และผู้เสียหายมีความคิดเห็นอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้น
  • ชวนรำลึกถึงการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในอดีตกับบุคคลรอบข้าง

อย่างไรก็ตาม เทคนิคการดูแลตนเองของผู้เสียหาย และการช่วยให้ตัวผู้เสียหายเองรู้สึกมั่นคงปลอดภัยนั้น อาจแตกต่างกันไปในผู้เสียหายแต่ละคน สภาพแวดล้อมบางอย่างอาจทำให้คน ๆ หนึ่งรู้สึกปลอดภัย แต่ไม่ปลอดภัยกับอีกคนหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลบาดแผลทางใจ จึงเป็นการรับฟังผู้เสียหายในสภาพเวดล้อมที่ปลอดภัยนั่นเอง


(10) SAMHSA’s Trauma and Justice Strategic Initiative, SAMHSA’s Concept of Trauma and Guidance for a Trauma-Informed Approach, July 2014.