< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส หลักการสำคัญในการทำงานกรณีความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 1 - หลักการสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว

บทเรียนที่ 10 - หลักการรักษาความลับ (Confidentiality)


การรักษาความลับ คือ การรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลทุกประการเกี่ยวกับผู้เสียหาย ไม่ว่าจะในกรณีใด การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียหายต่อบุคคลหรือองค์กรใดก็ตาม ต้องได้รับความยินยอมที่สมบูรณ์จากตัวผู้เสียหายเอง เพื่อรักษาความสัมพันธ์และความเชื่อใจระหว่างตัวผู้ปฏิบัติงานและผู้เสียหาย

หลักการในการรักษาความลับระหว่างการทำงานกรณีความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ มีดังนี้

  • สัมภาษณ์หรือรับฟังข้อมูลใด ๆ จากผู้เสียหายในสถานที่ปิดและมีความเป็นส่วนตัว และเป็นสถานที่ที่ผู้เสียหายรู้สึกปลอดภัย
  • เปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น เมื่อผู้เสียหายให้ความยินยอมแล้ว
  • เก็บรักษาเอกสารข้อมูลต่าง ๆ ให้ปลอดภัย และมีแผนในการจัดการทำลายข้อมูลเอกสารหลักฐานทั้งหมดในกรณีฉุกเฉิน
  • แม้ว่าจะไม่มีการเอ่ยชื่อของผู้เสียหาย การระวังไม่กล่าวถึงลักษณะและข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ เช่น เชื้อชาติ อายุ สภาพครอบครัว ยังคงเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะความเสี่ยงที่ผู้เสียหายจะถูกระบุตัวตนได้มีอยู่เสมอ เมื่อมีการกล่าวถึงผู้เสียหายไม่ว่าในบริบทหรือสถานการณ์ใด

อย่างไรก็ตาม หลักการการรักษาความลับนั้นมีข้อยกเว้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น กรณีผู้เสียหายอาจทำร้ายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น (ดูเพิ่มเติมในบทเรียนที่ 3 หัวข้อการประเมินความเสี่ยง)

ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายและกระบวนการหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ต้องมีการรักษาความลับและคุ้มครองข้อมูล ดังนี้

  • มีจุดประสงค์ในการเก็บข้อมูลที่ชัดเจน ไม่เก็บข้อมูลมากเกินความจำเป็น
  • มีข้อจำกัดในการเก็บรายละเอียดข้อมูล โดยคำนึงถึงความปลอดภัย จรรยาบรรณ ความยินยอมและความจำเป็น
  • มีระบบจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย จำกัดบุคคลที่เข้าถึงได้ และแจ้งกับผู้เสียหายอย่างชัดเจนว่าใครเข้าถึงข้อมูลของผู้เสียหายได้บ้าง
  • มีการแจ้งสิทธิและเคารพสิทธิของผู้เสียหาย
  • มีนโยบายคุ้มครองข้อมูล และมีการปฏิบัติตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ



ยินดีด้วย คุณจบโมดูล 1: หลักการสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว แล้ว โมดูลนี้เป็นโมดูลสุดท้ายของคอร์สนี้

กลับหน้าหลัก