< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส หลักการสำคัญในการทำงานกรณีความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 1 - หลักการสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว

บทเรียนที่ 9 - หลักการได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย (Consent)


ในการช่วยเหลือผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอันเนื่องมาจากเหตุแห่งเพศ ผู้ให้บริการต้องขอความยินยอมจากผู้เสียหายในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน รวมไปถึงการบันทึกข้อมูล การหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และการประสานส่งต่อข้อมูลเพื่อการให้บริการ ทั้งนี้ เพื่อรักษาความลับของเจ้าของข้อมูล (ที่เชื่อมโยงถึงความปลอดภัยและการให้ความร่วมมือของผู้เสียหาย) และหลีกเลี่ยงการกระทำซ้ำความรุนแรงโดยการไม่เคารพการตัดสินใจของผู้เสียหาย

ในการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลจำเป็นต้องใช้เทคนิคอำนาจร่วม เพื่อที่จะมั่นใจว่าเจ้าของข้อมูลมีอำนาจควบคุมชุดประสบการณ์ ชีวิตและร่างกายของตนเองอย่างเต็มที่ และรับทราบความเสี่ยง ผลที่อาจเกิดขึ้น และปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกอย่างโดยครบถ้วน

ความยินยอม หรือ consent มีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ คือ(11)

  1. ผู้ให้ความยินยอมจะต้องมอบความยินยอมให้ด้วยความมั่นใจ หากบุคคลบอกทางวาจาว่ายินยอม แต่ท่าทางดูวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจ หรือเงียบ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่การให้ความยินยอม
  2. เป็นการให้ความยินยอมที่ปราศจากการกดดัน รวมถึงบุคคลไม่สามารถให้ความยินยอมได้ในสภาพหมดสติ ในสภาวะจิตใจไม่มั่นคง เมาสุราหรือสารเสพติด
  3. ผู้ให้ความยินยอมต้องได้รับข้อมูลครบถ้วนก่อนให้ความยินยอม
  4. การยินยอมมีความเฉพาะเจาะจง เช่น ยินยอมในการกระทำอย่างหนึ่งภายใต้เงื่อนไขอย่างหนึ่งเท่านั้น
  5. การยินยอมเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ให้ความยินยอมสามารถถอนคืนความยินยอมได้ตลอดเวลา และในทุกขั้นตอนการทำงาน และสามารถขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้ความยินยอมได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ การให้ความยินยอมจะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ หากขาดข้อใดไป จะถือว่าความยินยอมที่ให้นั้นไม่สมบูรณ์และไม่มีผล ทั้งนี้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่สามารถให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการได้ตามกฎหมาย แต่เพื่อเป็นการเคารพในสิทธิของเด็ก ในการดำเนินการต่างๆ ผู้ปฏิบัติงานควรสอบถามความสมัครใจของเด็กอย่างไม่เป็นทางการด้วย โดยพิจารณาวิธีการถามให้เหมาะสมสอดคล้องกับอายุและระดับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน และในการทำงานกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำเป็นที่จะต้องมีเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก หรือนักสังคมสงเคราะห์ที่มีใบประกอบวิชาชีพอยู่ร่วมด้วยเสมอ(12)

ความยินยอมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการทำงานช่วยเหลือผู้เสียหาย และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนในสังคมมักมองว่าการถูกกดทับให้เชื่อฟังผู้ที่มีอำนาจมากกว่าเป็นเรื่องปกติ ผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีอำนาจมากกว่าผู้ถูกกระทำความรุนแรงอยู่แล้ว จึงต้องระมัดระวัง ไม่ชี้นำผู้เสียหายให้ทำตามการตัดสินใจที่ตัวผู้ปฏิบัติงานคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีอยู่เสมอ

การไกล่เกลี่ยต้องคำนึงถึงความยินยอมของผู้เสียหาย

ในกระบวนการทำงานกรณีความรุนแรง การไกล่เกลี่ยเป็นขั้นตอนที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการถามผู้เสียหายว่าตกลงยินยอมและยอมรับข้อกำหนดต่างๆ หรือไม่ และการไกล่เกลี่ยในสถานการณ์ที่คู่กรณีมีอำนาจไม่เท่ากันนั้นมีข้อท้าทายมาก เพราะความยินยอมของผู้เสียหายในระหว่างการไกล่เกลี่ยอาจเกิดท่ามกลางความกดดัน และไม่ใช่ความยินยอมที่สมบูรณ์ การทำให้ผู้เสียหายรู้สึกมั่นใจและไม่กดดันในสถานการณ์ที่ผู้เสียหายมีอำนาจการตัดสินใจน้อยกว่านั้นเป็นเรื่องยาก เพราะผู้เสียหายอาจมีความเปราะบางต่อความคิดเห็นของคนที่มีอำนาจมากกว่า และต้องอยู่ท่ามกลางความเครียดในระหว่างกระบวนการยุติธรรม

ผู้ปฏิบัติงานควรสอบถามความยินยอมเมื่อใด

  • ก่อนที่จะรับฟังเรื่องราวเพื่อเก็บข้อมูล
  • ก่อนที่จะเริ่มให้บริการการจัดการรายกรณี
  • ตลอดกระบวนการจัดการรายกรณี (Case management)
  • ก่อนที่จะทำการส่งต่อ (Case referrals)
  • ก่อนที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเคสในการประชุม การปรึกษาหารือ หรือการพูดคุยกับผู้ให้บริการอื่นๆ

ผู้เสียหายมีสิทธิในการไม่ให้ความยินยอมในประเด็นต่างๆ ดังนี้

  • สิทธิในการปฏิเสธไม่ให้เรื่องราวของพวกเขา (หรือเรื่องราวส่วนหนึ่งส่วนใด) ถูกบันทึกไว้ใบแบบบันทึกการรับเคสขององค์กร
  • สิทธิที่จะปฏิเสธไม่ตอบคำถามที่ไม่อยากตอบ
  • สิทธิที่จะแจ้งผู้ช่วยเหลือหรือ Caseworker ว่าต้องการจะพัก หรือให้ดำเนินกระบวนการอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • สิทธิที่จะถามคำถามหรือขอคำอธิบายได้ทุกเมื่อ
  • สิทธิที่จะขอเปลี่ยนผู้ช่วยเหลือหรือเปลี่ยน Caseworker
  • สิทธิที่จะปฏิเสธการส่งต่อ (Referral)
  • สิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองที่ถูกบันทึกไว้
  • สิทธิที่จะไม่ให้ความยินยอมในประเด็นอื่นนอกเหนือจากที่ได้ให้ความยินยอมไว้แล้ว ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจึงควรสอบถามและอธิบายกระบวนการทำงานกับผู้เสียหายอย่างละเอียดและค่อยเป็นค่อย รวมทั้งขอความยินยอมจากผู้เสียหายในขั้นตอนต่างๆ ระหว่างการทำงาน

(11) UN Women (2019). When it comes to consent, there are no blurred lines.จาก https://www.unwomen.org/en/news/stories/2019/11/feature-consent-no-blurred-lines

(12) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ (2564). การอบรมงานคุ้มครองเด็ก.