< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส หลักการสำคัญในการทำงานกรณีความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 1 - หลักการสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว

บทเรียนที่ 3 - หลักการไม่ทำให้เกิดอันตราย (Do no harm)


แนวทางแบบ ‘ไม่ทำให้เกิดอันตราย’ นั้น ว่าด้วยการใช้มาตรการทั้งหมดที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานหรือผู้ปฏิบัติงานกระทำการใดก็ตาม อันจะส่งผลให้ผู้เสียหายต้องเสี่ยงอันตราย ทั้งทางกายและทางจิตใจ(5) แนวทาง Do No Harm นั้นต้องคำนึงถึงสิทธิต่างๆ ดังนี้

สิทธิที่ต้องคำนึงถึงตามหลักการไม่ทำให้เกิดอันตราย

  • สิทธิความปลอดภัย ความปลอดภัยในหลักการ Do No Harm นี้ หมายรวมถึงความปลอดภัยในเชิงกายภาพ คือความปลอดภัยจากการถูกกระทำอันตรายใด ๆ และความปลอดภัยของสภาพจิตใจและสภาวะอารมณ์ของผู้เสียหายที่มีความเปราะบางสูงอยู่แล้ว ความปลอดภัยนี้รวมไปถึงสมาชิกในครอบครัวของผู้เสียหายที่ไม่ใช่ผู้กระทำความรุนแรง และตัวของผู้ปฏิบัติงานเองด้วย เพราะผู้ปฏิบัติงานกรณีความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศก็มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำความรุนแรงหรือข่มขู่คุกคามจากตัวผู้กระทำความรุนแรงเองและกลุ่มผู้สนับสนุนผู้กระทำด้วย
  • สิทธิในการรักษาความลับ ไม่เปิดเผยข้อมูลที่อาจนำไปสู่การเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ผู้เสียหาย การแจ้งข้อมูลของผู้เสียหายให้แก่บุคคลที่สามโดยที่ผู้เสียหายไม่รับทราบและไม่ได้ให้ความยินยอมก่อน อาจทำให้ผู้เสียหายรู้สึกขาดการควบคุมในข้อมูลส่วนตัวของตนเอง รู้สึกไม่ปลอดภัย และมีผลกระทบทางจิตใจ และอาจมีความเสี่ยงอื่นๆ ตามมาได้
  • สิทธิในการดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิในการตัดสินใจ ผู้เสียหายมีสิทธิในการเลือกผู้ที่จะทำงานร่วมกับตน และทำในสิ่งที่ตนเองพิจารณาเลือกแล้ว ในพื้นที่ที่รู้สึกปลอดภัย และกับกลุ่มคนที่รู้สึกสะดวกใจ
  • สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ผู้เสียหายทุกคนไม่ว่าจะมาจากชาติพันธุ์ เชื้อชาติ สัญชาติ อายุ อาชีพ ชนชั้น แนวคิดทางการเมือง ศาสนา รวมไปถึงอัตลักษณ์ทางเพศใดๆ ก็ตาม มีสิทธิในการเข้าถึงความช่วยเหลือที่ตนสมควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ได้รับความเคารพและระแวดระวังในการทำงานเท่าเทียมกับคนที่มีสัญชาติไทย ความเข้าใจอย่างรอบด้านเกี่ยวกับเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ รวมไปถึงเชื้อชาติและสัญชาติจึงจำเป็นสำหรับการช่วยเหลือผู้เสียหายที่มีอัตลักษณ์ต่างๆ กันไป เนื่องจากมีประเด็นละเอียดอ่อนที่จำเป็นต้องระมัดระวังขณะทำงานมากขึ้น

การยึดหลักการ Do No Harm ในระหว่างกระบวนการยุติธรรม

การระมัดระวังสภาพจิตใจและสวัสดิภาพของผู้เสียหายในระหว่างกระบวนการยุติธรรมอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องการให้ผู้เสียหายเล่าเรื่องราวของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการพิสูจน์ความจริงและเพื่อผลประโยชน์ของผู้เสียหาย ผู้ปฏิบัติงานอาจระมัดระวังให้มีอันตรายแก่ผู้เสียหายน้อยที่สุด โดยหมั่นรับฟังความต้องการของผู้เสียหายอยู่เสมอ หรือพยายามคำนึงถึงแนวทางการปฏิบัติเพื่อยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง คืนอำนาจให้ผู้เสียหาย และระมัดระวังการรื้อฟื้นบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย โดยมีแนวทางในการปฏิบัติต่างๆ เช่น

  • ลดการถามซ้ำ
  • หลีกเลี่ยงคำถามแบบโทษเหยื่อ เช่น คำถามว่า “ไปทำอะไรมา ทำไมถึงถูกกระทำความรุนแรง?” เพราะผู้เสียหายไม่ใช่ผู้ลงมือกระทำและไม่ใช่สาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น การอธิบายว่าทำไมจึงเกิดความรุนแรงขึ้นจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้เสียหาย ในทางกลับกัน คำถามในลักษณะนี้ควรเป็นคำถามสำหรับผู้กระทำ ว่าเหตุใดเขาจึงลงมือกระทำความรุนแรง
  • ไม่กดดันผู้เสียหาย ไม่ชี้นำให้ผู้เสียหายไกล่เกลี่ยยอมความ หากนั่นไม่ใช่ความต้องการของผู้เสียหายเอง
  • ให้อำนาจในการตัดสินใจกับผู้เสียหาย
  • รักษาความลับ

(5) International Federation for Human Rights. Sexual and gender-based violence: A glossary from A to Z. FIDH.