< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส การจัดการรายกรณีและการทำงานแบบสหวิชาชีพ

โมดูลที่ 1 - ความหมายและองค์ประกอบของการจัดการรายกรณี

บทเรียนที่ 1 - การจัดการรายกรณีคืออะไร


การจัดการรายกรณี (1) คือ การบูรณาการงานด้านต่างๆ ในระบบบริการ โดยมีผู้จัดการรายกรณี (Case Manager) เป็นเสมือนเจ้าภาพ ทำหน้าที่ประเมินความต้องการและความจำเป็นของผู้เสียหายและครอบครัว ประสานความร่วมมือ ติดตามและประเมินผล และพิทักษ์สิทธิ์เพื่อให้ได้มาซึ่งบริการหรือทรัพยากรที่จำเป็นต่อการคลี่คลายปัญหาอันซับซ้อนของผู้เสียหาย(2) เป็นกระบวนการทำงานที่อาศัยความร่วมมือในการประเมิน วางแผน ดำเนินการ การประสานงาน การติดตามกำกับงาน และการประเมินทางเลือกบริการที่สอดคล้องและตอบสนองความต้องการของผู้เสียหาย โดยอาศัยการสื่อสารและการจัดการทรัพยากรให้เกิดบริการที่มีประสิทธิภาพ และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้เสียหาย(3)

การจัดการรายกรณีมุ่งเน้นจัดการให้สมดุลชีวิตของผู้เสียหายดีเทียบเท่าก่อนเกิดเหตุหรือดีกว่า ไม่ใช่แค่เพียงในด้านกฎหมาย แต่รอบด้านทุกมิติ หรือจนกระทั่งผู้เสียหายสามารถจัดการกับความรุนแรงความเสี่ยงต่ำที่อาจยังคงเกิดขึ้นได้ด้วยตนเองแล้ว(4)

ผู้จัดการรายกรณีคือใคร

ผู้จัดการรายกรณี ทำหน้าที่เสมือนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ที่ประสบปัญหากับแหล่งทรัพยากรหรือแหล่งความช่วยเหลือต่างๆ โดยช่วยจัดการให้ผู้เสียหาย เด็ก และครอบครัว สามารถรู้จักแหล่งความช่วยเหลือ และสามารถเข้ามาใช้บริการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้จัดการรายกรณีจะทำงานกับระบบดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ โดยจะช่วยให้หน่วยงานยอมลดข้อจำกัด ปรับกฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ที่เข้มงวดและเคร่งครัดให้ยืดหยุ่นและง่ายต่อการที่ผู้เสียหายจะเข้ามาใช้บริการอย่างไม่มีอุปสรรค

ผู้จัดการรายกรณีจึงเป็นผู้เดินร่วมทางกับผู้เสียหายและคอยดูแลในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง และทำงานโดยคำนึงถึงบริบทต่างๆ รอบตัวผู้เสียหาย บริการที่ใช้ได้จริงในชุมชน สภาพพื้นที่และบริบทของสังคม และทำหน้าที่ร่วมกับทีมสหวิชาชีพและผู้เสียหายในการประเมิน วางแผนออกแบบชุดบริการ ประสานเชื่อมโยงแหล่งทรัพยากร ติดตามและประเมินผล และพิทักษ์สิทธิ์ เพื่อให้ผู้เสียหายได้เข้าถึงบริการที่

สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการ เกิดการแก้ไขปัญหาหรือคลี่คลายปัญหาที่ซับซ้อนได้ นำไปสู่การพึ่งตนเองและคุณภาพชีวิตที่ดีของกลุ่มเป้าหมาย

คุณสมบัติของผู้จัดการรายกรณี

  • ยึดถือค่านิยมและจรรยาบรรณของการจัดการรายกรณี
  • มีความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก ผู้หญิง และพลวัตของรูปแบบความรุนแรง
  • เข้าใจระบบการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง และกลุ่มที่ถูกทำให้เปราะบาง
  • เข้าใจกระบวนการและมาตรฐานของการจัดการรายกรณี
  • มีทักษะในการรายงานและนิเทศงาน
  • มีทักษะการให้บริการปรึกษาเสริมพลังอำนาจและการสื่อสารอย่างสันติ
  • มีทักษะการประสานงานเครือข่าย และการสร้างความร่วมมือ
  • มีทักษะการจัดการความขัดแย้ง และภาวะผู้นำ
  • มีทักษะส่วนบุคคล ได้แก่ การตระหนักรู้ในตนเอง การเยียวยาตนเอง การจัดการกับความเครียดและบาดแผลทางใจ

(1) เรียบเรียงจากเนื้อหาการอบรม “การจัดการรายกรณีปัญหาความรุนแรงบนฐานเพศ”. โสภา อ่อนโอภาส วิทยากร. ปี 2564.

(2) The Commission for Case Manager Certification, Certification Guide (Rolling Meadows, IL : 2003)

(3) Albert R. Roberts, Gilbert J. Greene. (2002). Social Workers’desk Reference. Oxford University Press, Inc.

(4) National Association of Social Workers (1992). NASW Standards for Social Work Case Management.




สารบัญ

การจัดการรายกรณีและการทำงานแบบสหวิชาชีพ ความหมายและองค์ประกอบของการจัดการรายกรณี การจัดการรายกรณีคืออะไร องค์ประกอบของการจัดการรายกรณี เป้าหมายและหลักการทำงานของผู้จัดการรายกรณี การทำหน้าที่ของผู้จัดการรายกรณี ขั้นตอนการทำงานของผู้จัดการรายกรณี ขั้นตอนการจัดการรายกรณีปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ การดำเนินการตามแผน ข้อแนะนำในการจัดการรายกรณีขณะผู้เสียหายอยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรม การยุติการให้บริการ สหวิชาชีพและการทำงานแบบสหวิชาชีพ ความหมายและความสำคัญของสหวิชาชีพ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง