< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส การจัดการรายกรณีและการทำงานแบบสหวิชาชีพ

โมดูลที่ 3 - สหวิชาชีพและการทำงานแบบสหวิชาชีพ

บทเรียนที่ 1 - ความหมายและความสำคัญของสหวิชาชีพ


ทีมสหวิชาชีพ หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ มีความรู้ ทักษะ และความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างมีระบบและเป็นกระบวนการ โดยอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมายและวัตถุประสงค์เดียวกันในการปฏิบัติงาน โดยจะมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเพื่อการประเมินสภาพการณ์ของปัญหา และมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งกระบวนการ(12)

สหวิชาชีพ อาจประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานจากหลากหลายสาขาวิชาชีพหรือหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ ขึ้นกับความต้องการเฉพาะของผู้ถูกกระทำเป็นรายกรณีไป ในการจัดการรายกรณีหนึ่งๆ หน่วยงานต่าง อาจมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันเป็นสหวิชาชีพ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเป็นผู้พิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการก็ควรเข้ามามีส่วนร่วมปฏิบัติงานเพื่อจัดหาสวัสดิการให้ผู้เสียหาย หรือหากผู้เสียหายต้องการความช่วยเหลือด้านอาชีพ กรมแรงงานก็สามารถเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมสหวิชาชีพได้

ผู้จัดการรายกรณีมีหน้าที่ในการรับฟังความต้องการของผู้เสียหายแล้วติดต่อแสวงหาหน่วยงานที่สามารถตอบสนองความต้องการนั้น ๆ สร้างเป็นทีมการทำงานแบบสหวิชาชีพขึ้น โดยแจ้งความต้องการของผู้เสียหายแก่ทีม และอาจเป็นตัวแทนนำข้อมูล แผนการทำงาน และข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมาติดต่อสื่อสารกับผู้เสียหาย โดยพยายามไม่ให้เกิดการถามซ้ำ หรือทำให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าต้องแบกรับภาระมากจนเกินไปในขณะที่ยังต้องเยียวยาฟื้นฟูตนเองจากความรุนแรง รวมไปถึงการติดตามการทำงานของสหวิชาชีพ การทำบันทึกการประชุม และการเฝ้าระวังและประเมินสภาพจิตใจและความต้องการของผู้เสียหายระหว่างกระบวนการอยู่เสมอ

การทำงานในรูปแบบของสหวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ(13)

ในการทำงานของทีมสหวิชาชีพ สมาชิกในทีมควรให้ความสำคัญกับการเคารพในวิชาชีพของกันและกัน เข้าใจว่าแต่ละสหวิชาชีพมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน และสามารถสื่อสารกันได้ด้วยความเปิดเผยและเคารพซึ่งกันและกัน เพราะผู้ปฏิบัติงานสาขาใดสาขาหนึ่งย่อมไม่สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกเรื่องได้

ทีมสหวิชาชีพยังจำเป็นต้องมีทักษะในการประสานงาน มีความยืดหยุ่น มีการเชื่อมต่อติดตามความคืบหน้าของการทำงานร่วมกัน มีการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ และสิ่งสำคัญคือ เข้าใจในบทบาทของตนเอง มีขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน และเคารพในขอบเขตการทำงานของผู้อื่น โดยมีผู้จัดการรายกรณีเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างสมาชิกในทีมและผู้เสียหาย

สรุปการทำงานแบบสหวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ

  • มีการประสานและขอความร่วมมือในการทำงานร่วมกันจากนักวิชาชีพสาขาต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหาย
  • มีการจัดประชุมทีมสหวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอตามความจำเป็น เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกันโดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคืบหน้าในการทำงาน รวมทั้งข้อท้าทายและอุปสรรค
  • มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามความเชี่ยวชาญของแต่ละวิชาชีพหรือหน่วยงาน
  • มีการจัดทำบันทึกการประชุมทีมสหวิชาชีพ บันทึกข้อตกลงและแผนการทำงาน รวมไปถึงการระบุตัวบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน
  • เคารพในความเชี่ยวชาญของสหวิชาชีพแต่ละสาขา และเชื่อมั่นในทีมงาน

การประชุมทีมสหวิชาชีพ

การประชุมทีมสหวิชาชีพ เป็นการประชุมสำคัญที่ทีมงานผู้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายทุกคนต้องเข้าประชุมร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานและวางแผนหรือทบทวนแผนการทำงานที่ทำไว้ร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหาย

การประชุมทีมสหวิชาชีพไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการผู้เสียหายเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความมั่นใจและประกันความปลอดภัยในการทำงานของสมาชิกในทีม เนื่องจากมีการทำงานเป็นทีม การดำเนินการต่าง ๆ เป็นผลจากการตัดสินใจร่วมกันของทีม โดยอาจทำการบันทึกการตัดสินใจหรือวางแผนและลงนามร่วมในเอกสารในนามของทีม และรับผลที่ตามมาร่วมกันในฐานะทีม(14)


(12) สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว สำนักงานอัยการสูงสุด. (2564). แนวทางการปฏิบัติงานศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว และการประสานงานสหวิชาชีพและชุมชน.

(13) M. Woodcock (1989). Team Development Manual. 2 nd ed. Great Britain : Billing and Son. Albert R. Roberts, Gilbert J. Greene. (2002). Social Workers’desk Reference. Oxford University Press, Inc. และ T. Philippe (2007). Special Needs Education Basis: Historical and Conceptual Approach. Université Libre de Bruxelles Tivat. Montenegro.

(14) เรียบเรียงจากเนื้อหาการอบรมงานคุ้มครองเด็ก. จัดโดย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์. ปี 2564.



ยินดีด้วย คุณจบโมดูล 3: สหวิชาชีพและการทำงานแบบสหวิชาชีพ แล้ว

โมดูลต่อไป >
หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง


สารบัญ

การจัดการรายกรณีและการทำงานแบบสหวิชาชีพ ความหมายและองค์ประกอบของการจัดการรายกรณี การจัดการรายกรณีคืออะไร องค์ประกอบของการจัดการรายกรณี เป้าหมายและหลักการทำงานของผู้จัดการรายกรณี การทำหน้าที่ของผู้จัดการรายกรณี ขั้นตอนการทำงานของผู้จัดการรายกรณี ขั้นตอนการจัดการรายกรณีปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ การดำเนินการตามแผน ข้อแนะนำในการจัดการรายกรณีขณะผู้เสียหายอยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรม การยุติการให้บริการ สหวิชาชีพและการทำงานแบบสหวิชาชีพ ความหมายและความสำคัญของสหวิชาชีพ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง