คอร์ส การจัดการรายกรณีและการทำงานแบบสหวิชาชีพ
โมดูลที่ 4 - หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
บทเรียนที่ 1 - หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)(15)
ภายใต้กระทรวง พม. มีหน่วยงานเฉพาะด้านหลายหน่วยที่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายที่มีอัตลักษณ์เฉพาะหรือมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป เช่น กรณีแม่และเด็กผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว อาจจำเป็นต้องประสานทั้งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และกรมกิจการเด็กและเยาวชน หรือในกรณีที่มีผู้สูงอายุหรือผู้พิการ อาจต้องประสานขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานของกรมอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นต้น
2. กระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูลเกี่ยวกับบริการทางสาธารณสุขเป็นข้อมูลที่จำเป็นที่จะต้องแจ้งให้ผู้เสียหายรับทราบในเบื้องต้น โดยขณะนี้ โรงพยาบาลของรัฐทั้งที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ มีบริการ “ศูนย์พึ่งได้” หรือศูนย์ OSCC (One-stop Crisis Center) ซึ่งเป็นหน่วยบริการให้ความช่วยเหลือเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ และปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยมีบริการให้การปรึกษาและประสานส่งต่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งจากแผนกต่างๆ ภายในโรงพยาบาลเองและจากหน่วยงานภายนอก นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลเฉพาะทางและโรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อีกบางส่วน ที่มีบริการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงด้วย อาทิเช่น โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
3. กระทรวงการยุติธรรม(16)
ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม กรมที่มีบทบาทเกี่ยวข้องระหว่างการดำเนินคดีมากที่สุด คือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย คุ้มครองพยาน และพิจารณาจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา เช่น ในกรณีที่ถูกทำร้ายจนเกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือเสียชีวิต ตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544
4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(17)
เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ระงับเหตุ รับแจ้งความร้องทุกข์ สอบสวนผู้เกี่ยวข้องในคดี สืบสวนหาพยานหลักฐาน ติดตามจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดี และจัดทำสำนวนคดีที่ระบุความผิดตามกฎหมายส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาล ตลอดจนคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ
5. สำนักงานอัยการสูงสุด(18)
สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นส่วนราชการอิสระ พนักงานอัยการมีหน้าที่เป็นทนายแผ่นดินหรือนักกฎหมายให้แก่รัฐ ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัว พนักงานอัยการมีหน้าที่ในการพิจารณาสำนวนคดีที่ได้รับมาจากพนักงานสอบสวน และมีอำนาจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น ๆ ต่อศาล หรืออาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปดำเนินการหาพยานหลักฐานประกอบสำนวนคดีเพิ่มเติมได้ และในกรณีของผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำซ้ำ และต้องการร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ แต่ไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอด้วยตนเองได้ พนักงานอัยการ โดยสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว ซึ่งตั้งอยู่ในทุกจังหวัด สามารถทำหน้าที่ร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาลแทนผู้เสียหายได้
นอกจากหน้าที่ในการดำเนินคดีแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดยังมีสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี ซึ่งตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีหน้าที่ด้านการคุ้มครองสิทธิและให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ด้วย
6. ศาลเยาวชนและครอบครัว(19)
ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอยู่ทั้งในส่วนกลางและส่วนจังหวัด ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีความรุนแรงในครอบครัว ศาลเยาวชนและครอบครัวมีหน้าที่ในการไต่สวนและพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 รวมทั้งมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรการและออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพแก่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับการปฏิบัติโดยมิชอบ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก
นอกจากหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น ศาลเยาวชนและครอบครัวยังมีการจัดตั้งหน่วยงาน ศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อแนะนำช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัว ทำหน้าที่ให้การปรึกษาและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำผิดทางอาญา ซึ่งรวมถึงความผิดตามกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวและกฎหมายคุ้มครองเด็ก ไม่ว่าจะได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วหรือไม่ หรืออยู่ระหว่าการพิจารณาคดี โดยมีบริการให้คำปรึกษาเบื้องต้นโดยนักจิตวิทยา การให้ข้อมูลเรื่องสิทธิของผู้เสียหายและขั้นตอนการดำเนินคดีโดยผู้พิพากษา และการประสานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นและเหมาะสม
(15) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) (2561). โครงสร้างและอำนาจหน้าที่. สืบค้นจาก https://www.m-society.go.th/news_view.php?nid=1731
(16) ข้อมูลบางส่วนจาก กระทรวงการยุติธรรม (2560). โครงสร้างกระทรวงยุติธรรม. สืบค้นจาก https://www.moj.go.th/view/7782
(17) ข้อมูลบางส่วนจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (2559 ) โครงสร้างและอำนาจหน้าที่. สืบค้นจาก https://www.royalthaipolice.go.th/structure.php
(18) ข้อมูลบางส่วนจาก แผนผังโครงสร้างสำนักงานอัยการสูงสุด https://www2.ago.go.th/index.php/about/vision
(19) ข้อมูลบางส่วนจาก กลุ่มงานบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์. คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ, ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรี และ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสระบุรี https://srbjc.coj.go.th/th/content/page/index/id/236934
ยินดีด้วย คุณจบโมดูล 4: หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้ว โมดูลนี้เป็นโมดูลสุดท้ายของคอร์สนี้
กลับหน้าหลัก