< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส การจัดการรายกรณีและการทำงานแบบสหวิชาชีพ

โมดูลที่ 1 - ความหมายและองค์ประกอบของการจัดการรายกรณี

บทเรียนที่ 3 - เป้าหมายและหลักการทำงานของผู้จัดการรายกรณี


การจัดการรายกรณี มีเป้าหมายดังนี้

  1. เชื่อมโยงผู้เสียหายเข้าสู่ระบบการให้บริการ ทรัพยากร และโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร โดยการเสริมสร้างความสามารถในการใช้บริการสังคม และการสนับสนุนทางสังคมต่าง ๆ
  2. เสริมพลังอำนาจ เพิ่มพูนทักษะการแก้ไขปัญหา และกลไกการจัดการกับปัญหาของผู้เสียหาย
  3. พิทักษ์สิทธิ และสนับสนุนการจัดการระบบบริการที่มีประสิทธิภาพด้านการจัดสรรทรัพยากรและบริการแก่ผู้เสียหาย
  4. ปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพของระบบบริการ ตลอดจนปรับปรุงนโยบายสวัสดิการสังคม

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว การจัดการรายกรณีจำเป็นต้องมี แนวคิดการจัดการที่เป็นระบบ ผู้จัดการรายกรณีควรให้การดูแลผู้เสียหายเฉพาะราย ให้บริการอย่างต่อเนื่อง ให้บริการระยะยาวที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ของผู้เสียหายและผู้ปฏิบัติงาน ทำงานเป็นทีม ตรวจสอบคุณภาพของบริการอย่างสม่ำเสมอ มีเป้าหมายของทุกกิจกรรม โดยต้องประเมินว่าผู้เสียหายสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของตนได้ และมีการประสานเชื่อมโยงบริการและพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้เสียหาย

การจัดการรายกรณียังใช้ แนวคิดแบบสหศาสตร์ คือ การใช้วิธีการมองปัญหาผู้ใช้บริการ ครอบครัว และชุมชน โดยอาศัยความรู้จากหลาย ๆ ศาสตร์ เช่น กฏหมาย สังคมสงเคราะห์ และจิตวิทยา โดยอาจเกิดจากการตั้งประเด็นถกเถียงแลกเปลี่ยนในการประชุมทีมสหวิชาชีพ ให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้การประเมินและวิเคราะห์สภาวะของผู้ใช้บริการ ครอบครัว และชุมชน มีความรอบด้านครอบคลุมมากขึ้น

การจัดการรายกรณียังควรทำบนหลักการทำงานสากลพื้นฐาน ซึ่งสามารถดูเพิ่มเติมได้ในบทเรียนที่ 2 หลักการสำคัญในการทำงานกรณีความรุนแรงในครอบครัว

หลักการการจัดการรายกรณี

  1. จัดบริการแบบปัจเจกบุคคล เป็นการจัดบริการที่ออกแบบการให้บริการโดยคำนึงถึงความต้องการจำเป็นที่เฉพาะเจาะจง ที่ตอบสนองต่อปัญหาของผู้เสียหายรายนั้นๆ
  2. ยึดหลักไม่ทำให้เกิดอันตราย (Do no harm) และคำนึงถึงความปลอดภัย
  3. จัดบริการอย่างครอบคลุม เป็นการจัดบริการที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิตของผู้เสียหาย (บริการเชิงลึกและกว้าง)
  4. การจัดระบบบริการที่ป้องกันการให้บริการซ้ำซ้อนกันของแต่ละหน่วยงาน
  5. การพึ่งพาตนเอง การจัดบริการทางสังคมเป็นการช่วยเหลือหรือให้บริการภายใต้แนวคิดที่จะต้องให้ผู้เสียหายสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
  6. บริการอย่างต่อเนื่อง เป็นการบริการที่ดูแลต่อเนื่องจนกว่าผู้เสียหายจะสามารถเพิ่มพูนศักยภาพในการดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(6) โสภา อ่อนโอภาส & นุชนาฎ ยูฮันเงาะ (2564). เครื่องมือในการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์. คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.




สารบัญ

การจัดการรายกรณีและการทำงานแบบสหวิชาชีพ ความหมายและองค์ประกอบของการจัดการรายกรณี การจัดการรายกรณีคืออะไร องค์ประกอบของการจัดการรายกรณี เป้าหมายและหลักการทำงานของผู้จัดการรายกรณี การทำหน้าที่ของผู้จัดการรายกรณี ขั้นตอนการทำงานของผู้จัดการรายกรณี ขั้นตอนการจัดการรายกรณีปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ การดำเนินการตามแผน ข้อแนะนำในการจัดการรายกรณีขณะผู้เสียหายอยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรม การยุติการให้บริการ สหวิชาชีพและการทำงานแบบสหวิชาชีพ ความหมายและความสำคัญของสหวิชาชีพ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง