< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 1 - ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร

บทเรียนที่ 3 - ความรุนแรงในครอบครัวลักษณะต่างๆ


ความรุนแรงในครอบครัวแบ่งออกได้เป็นลักษณะต่าง ๆ ดังนี้(4)

  1. ความรุนแรงทางกาย
  2. ความรุนแรงทางเพศ
  3. ความรุนแรงทางจิตใจ
  4. การละเลยทอดทิ้ง
  5. ความรุนแรงลักษณะอื่น ๆ

ความรุนแรงทางกาย

ความรุนแรงทางกาย เช่น การทุบตี เตะ กัด ข่วน ใช้อาวุธทำร้าย ความรุนแรงประเภทนี้แม้จะมองเห็นได้ด้วยตา แต่หลายครั้งกลับถูกสังคมมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว เช่น การที่ครอบครัวลงโทษเด็กด้วยการทำร้ายร่างกาย การทะเลาะตบตีกันของสามีภรรยา การทำร่างกายตอนเมาสุรา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นความรุนแรงทั้งสิ้น

ความรุนแรงทางเพศ

ความรุนแรงทางเพศ เช่น การข่มขืนในคู่รัก การล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัว การคุกคามทางเพศ ถือเป็นความรุนแรง การตกลงยินยอมเป็นคู่รัก การเข้าพิธีแต่งงาน หรือการจดทะเบียนสมรส ไม่ได้หมายความว่าบุคคลในความสัมพันธ์นั้นจะต้องยินยอมกับพฤติกรรมทางเพศทุก ๆ อย่างที่อีกฝ่ายต้องการ หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม และเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย เสียใจ หรือมีอันตรายต่อจิตใจ พฤติกรรมทางเพศนั้นถือเป็นความรุนแรง

ความรุนแรงทางจิตใจ

ความรุนแรงทางจิตใจ หมายถึง การกระทำที่เป็นการทำร้ายจิตใจผู้อื่น เป็นความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว คู่รัก เพื่อนร่วมงาน เพื่อนในสถานศึกษา ครูกับนักเรียน ไปจนถึงความรุนแรงรูปแบบอื่น ๆ ในทุกรูปแบบที่ส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น การด่าทอ ตำหนิติเตียน ดูถูกเหยียดหยาม จำกัดอิสระภาพ การไม่เคารพความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงการนอกใจ

การทำร้ายทางจิตใจที่มักถูกมองข้ามหรือทำให้เป็นเรื่องปกติ คือ การใช้คำพูดหรือการกระทำที่ทำร้ายจิตใจ ทำให้อับอาย เสียศักดิ์ศรี ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือประสบการณ์ การทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว ไม่ให้ความรักหรือการดูแลที่เหมาะสม พูดเปรียบเทียบหรือประชดประชัน ดุด่าด้วยคำหยาบคาย ตะโกน ตะคอกหรือทำให้หวาดกลัว ไปจนถึงกล่าวโทษหรือทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกผิด ความรุนแรงเหล่านี้ส่งผลต่อจิตใจ ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ด้อยกว่าคนอื่น ๆ ไม่มีศักยภาพที่ดีพอ อ่อนแอ ไร้ความสามารถ รู้สึกโดดเดี่ยว และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว

ความรุนแรงทางจิตใจ อาจประกอบไปด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้(5)

  • ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำด้วยการแสดงท่าทางหรือด้วยคำพูด ตะคอก พูดจาเสียงดังใส่ ทำให้อับอายด้วยคำพูดหรือการกระทำ อาจเกิดได้ทั้งในสถานที่ปิดหรือในที่สาธารณะ สั่งสอนตลอดเวลาไม่ว่าจะพูดคุยกันด้วยประเด็นใด ตัดสินมุมมองหรือความคิดของผู้ถูกกระทำด้วยอคติ ทำเหมือนผู้ถูกกระทำเป็นเด็กหรือเป็นผู้ที่ด้อยกว่า ฉลาดน้อยกว่า ดูถูกสติปัญญา ใช้คำพูดที่ยกตนเหนือกว่าและทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกน่าสมเพช
  • ปั่นหัวหรือทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่มั่นใจและเกิดคำถามกับความเป็นตัวเอง ควบคุมหรือจับตามองอยู่ตลอดไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะทำอะไรในชีวิตประจำวัน
  • หึงหวงหรือหวาดระแวงอย่างรุนแรง
  • กล่าวหาว่าผู้ถูกกระทำนอกใจทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐาน
  • กลั่นแกล้ง
  • คาดเดาอารมณ์ผู้กระทำได้ยาก โดยอาจโมโหอย่างไม่มีเหตุผล อารมณ์เปลี่ยนแปลงรุนแรง
  • เมินเฉย ทอดทิ้งหรือไม่ใส่ใจในความต้องการของผู้ถูกกระทำ ทำเหมือนความคิด ความต้องการเหล่านั้นไม่มีค่าพอให้สนใจ

การละเลยทอดทิ้ง

การละเลยทอดทิ้งหมายถึง การทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว การเพิกเฉยหรือกีดกันไม่ให้เข้าถึงบริการหรือทรัพยากร และความล้มเหลวต่อเนื่องของครอบครัว/ผู้ดูแลในการดูแลสุขภาวะและพัฒนาการของเด็ก โดยกระทำกับผู้ที่ต้องพึ่งพิงบุคคลอื่นในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น ทารก เด็ก และผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

การละเลยทอดทิ้งสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้

  • การถูกทอดทิ้งทางกายภาพ การถูกกีดกันจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต (Physical neglect, Deprivation of physical needs) หมายถึง การเข้าไม่ถึงหรือถูกกีดกันจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ขาดอาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า
  • การเข้าไม่ถึงบริการทางสาธารณสุข (Medical neglect) หมายถึง การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐานและในยามที่จำเป็น เช่น ไม่ได้ไปพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย ขาดวัคซีน ขาดการตรวจสุขภาพ การถูกกีดกันจากบริการการทำแท้งที่ปลอดภัย
  • การขาดการกำกับดูแล (Supervisory neglect) หมายถึง การที่ผู้ดูแลไม่สามารถดูแลเด็กหรือผู้เปราะบางให้พ้นจากอุบัติเหตุหรืออันตราย หรือการขาดผู้ดูแล
  • การถูกทอดทิ้งทางสภาพแวดล้อม (Environmental neglect) หมายถึง การขาดการดูแลสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กหรือผู้ที่ต้องการการดูแล เช่น ขาดการทำความสะอาด ขาดการดูแล มีอาหารเน่าเสียทิ้งค้าง เสื้อผ้าไม่ได้รับการดูแล
  • การถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ (Emotional neglect) หมายถึง การทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ขาดการพัฒนาอารมณ์เชิงบวกระหว่างกัน การทำให้อับอาย การปฏิบัติเสมือนอีกฝ่ายเป็นวัตถุ การปฏิเสธความต้องการ ไปจนถึงการลงโทษด้วยวิธีรุนแรง
  • การเข้าไม่ถึงการศึกษา (Educational neglect) หมายถึง การไม่ส่งเด็กเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน บังคับให้หยุดเรียน ไม่ให้การสนับสนุนในการศึกษา

(4) WHO (2002). World Report on Violence and Health: Summary.

(5) SHero (2021). Emotional Abuse: การทำร้ายทางจิตใจที่ไม่มีใครควรเผชิญ. Available at https://www.sherothailand.org/post/emotional-abuse-การทำร้ายทางจิตใจที่ไม่มีใครควรเผชิญ




สารบัญ

เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร ความรุนแรงในครอบครัวคือความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร ความรุนแรงในครอบครัวลักษณะต่างๆ ความรุนแรงในครอบครัวรูปแบบอื่นๆ ใครสามารถตกเป็นผู้เสียหายได้บ้าง ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว การออกจากความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่าย พลวัตของความรุนแรงระหว่างคู่รัก (Dynamics of Intimate Partner Violence) การบังคับควบคุม เทคนิคที่ผู้กระทำใช้ควบคุมผู้เสียหาย วัฏจักรความรุนแรงในครอบครัว รากปัญหาของความรุนแรงในครอบครัว รากปัญหาของความรุนแรงในครอบครัว ทำความเข้าใจรากของปัญหาอย่างลึกซึ้ง อำนาจนิยมปิตาธิปไตย ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาของทุกคนในสังคม