คอร์ส เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว
โมดูลที่ 3 - รากปัญหาของความรุนแรงในครอบครัว
บทเรียนที่ 4 - ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาของทุกคนในสังคม
ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยแพร่สถิติเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวของปี 2565 พบมีผู้ถูกกระทำรุนแรงที่ขอรับความช่วยเหลือจำนวน 2,347 ราย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสถิตินี้ไม่ได้แสดงถึงจำนวนผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด และอาจเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
ความรุนเเรงในครอบครัวมักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้เสียหายจะออกมาขอความช่วยเหลือ ขณะที่แนวคิดอำนาจนิยมปิตาธิปไตยยังคงแทรกซึมอยู่ในสถาบันต่างๆ ของสังคม เช่น สื่อที่อาจสื่อสารข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวไปในทางที่กล่าวโทษว่าเป็นความผิดของผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ยังอาจเชื่อในมายาคติว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวและไม่ให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ทำให้ผู้เสียหายบางคนหลุดจากระบบการให้ความช่วยเหลือไป และแม้แต่การใช้ภาษาและมุกตลกขำขันเกี่ยวกับความรุนแรงก็เป็นส่วนหนึ่งที่กล่อมเกล่าให้สังคมเห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องเล็กน้อย และอาจทำให้ผู้เสียหายเกิดความไม่มั่นใจและไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ก่อนการทำงานกับผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ จึงจำเป็นที่คนทำงานจะต้องเห็นภาพปัญหาเชิงโครงสร้างให้ชัดเจน เห็นถึงรากของปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของทั้งฝ่ายผู้เสียหายและผู้กระทำความรุนแรง รวมไปถึงทำความเข้าใจว่า สังคมไทยยังมองความรุนแรงหลายประการเป็นเรื่องปกติ ผู้เสียหายต้องเผชิญกับความรุนแรงที่สอดแทรกอยู่ในทุกๆ สถาบันของสังคม ไม่เพียงแต่สถาบันครอบครัวเท่านั้น แต่สถาบันอื่นๆ ในสังคมก็มีส่วนหล่อเลี้ยงให้ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นด้วย
ยินดีด้วย คุณจบโมดูล 3: รากปัญหาของความรุนแรงในครอบครัว แล้ว โมดูลนี้เป็นโมดูลสุดท้ายของคอร์สนี้
กลับหน้าหลัก