< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 3 - รากปัญหาของความรุนแรงในครอบครัว

บทเรียนที่ 3 - อำนาจนิยมปิตาธิปไตย


หนังสือ เส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลง เพศและความเป็นธรรมบนฐานจิตวิญญาณและการเรียนรู้ด้วยหัวใจ(14) อธิบายลักษะของสังคมไทยเอาไว้ว่า เป็นสังคมอำนาจนิยม มีวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ และมักยอมรับว่าความรุนแรงในสังคมเป็นเรื่องปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

สังคมอำนาจนิยม หมายถึง สังคมที่มีลำดับชนชั้น ชนชั้นนี้ไม่ได้หมายถึงชนชั้นอย่างเป็นทางการเช่นวรรณะในอินเดีย หรือชนชั้นที่เห็นได้ทางกฏหมายเช่นชนชั้นทาส ไพร่ ที่ไทยเคยมีอยู่ในอดีตและได้ประกาศยกเลิกไปแล้ว แต่หมายถึงการที่คนมีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่มาจากความอาวุโสเนื่องจากอายุหรือตำแหน่งหน้าที่การงาน สถานะทางการเงิน การศึกษา การมีเส้นสายหรือพรรคพวก ไปจนถึงความเป็นเพศชายที่สังคมให้ความสำคัญ เป็นต้น โดยคนที่มีอำนาจมากกว่ามักมีสิทธิในการตัดสินใจ ได้รับโอกาส และเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ในสังคมได้มากกว่าคนที่มีอำนาจน้อยกว่า

ปิตาธิปไตย หรือ แนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ หมายถึง รูปแบบดั้งเดิมของการจัดระเบียบสังคมที่มีรากฐานมาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ ตามการจัดระเบียบสังคมในลักษณะนี้ เพศชาย และลักษณะของความเป็นชายจะถูกจัดลำดับให้สำคัญกว่าเพศหญิง ลักษณะความเป็นหญิง ความเป็นอินเทอร์เซ็กส์ และความเป็นอื่นที่ไม่ใช่หญิงหรือชาย โดยมักอ้างแนวคิดทางชีววิทยามาเป็นเหตุผลรองรับ เช่น แนวคิดที่มองว่าผู้หญิงมีทักษะในการดูแลผู้อื่นอยู่แล้วตามธรรมชาติ จึงควรรับผิดชอบงานบ้านและการดูแลสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น

นอกจากคำว่าปิตาธิปไตยแล้ว ยังมีคำศัพท์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • บรรทัดฐานทางเพศ (Gender norms) หมายถึง มาตรฐานที่สังคมกำหนดสำหรับความเป็นเพศชายและเพศหญิง รวมถึงผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ ว่าควรเป็นหรือไม่เป็น หรือควรทำหรือไม่ทำสิ่งใด เป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยสังคม ชุมชน และวัฒนธรรมในช่วงเวลาหนึ่ง และได้รับการรักษาสืบทอดโดยผู้มีอำนาจในระบบสังคมนั้นๆ
  • บทบาททางเพศ (Gender roles) บทบาทหน้าที่ของบุคคลในฐานะที่เกิดมาเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมความเชื่อ และอาจแตกต่างกันไปตามบรรทัดฐานทางเพศในแต่ละพื้นที่ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของความเป็นชายและความเป็นหญิง และการเสริมอำนาจภายในของผู้หญิงและชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  • การตีตราบาป (Stigmatization) หมายถึง การตัดสินคุณค่า ตำหนิ และลงโทษทางสังคม โดยเฉพาะเมื่อบุคคลประพฤติปฏิบัติแตกต่างไปจากบรรทัดฐานสังคมแบบเหมารวมทางเพศ
  • การเหมารวมทางเพศ (Gender stereotypes) คือความคิดแบบเหมารวมว่าบุคคลแต่ละเพศต้องปฏิบัติตามกรอบบรรทัดฐานทางเพศและบทบาทของแต่ละเพศที่สังคมกำหนดไว้แล้วตามแนวคิดปิตาธิปไตย
  • การเลือกปฏิบัติทางเพศ (Gender discrimination) หมายถึง การกีดกันหรือจำกัดสิทธิใดๆ อันเนื่องมาจากเหตุแห่งเพศ การเลือกปฏิบัติอาจเกิดขึ้นในรูปแบบของกฎหมาย (ทางนิตินัย) และในรูปแบบของธรรมเนียมหรือวิถีปฏิบัติในสังคม (ทางพฤตินัย)

(14) อวยพร เขื่อนแก้ว (2558). เส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลง เพศและความเป็นธรรมบนฐานจิตวิญญาณและการเรียนรู้ด้วยหัวใจ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส).




สารบัญ

เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร ความรุนแรงในครอบครัวคือความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร ความรุนแรงในครอบครัวลักษณะต่างๆ ความรุนแรงในครอบครัวรูปแบบอื่นๆ ใครสามารถตกเป็นผู้เสียหายได้บ้าง ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว การออกจากความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่าย พลวัตของความรุนแรงระหว่างคู่รัก (Dynamics of Intimate Partner Violence) การบังคับควบคุม เทคนิคที่ผู้กระทำใช้ควบคุมผู้เสียหาย วัฏจักรความรุนแรงในครอบครัว รากปัญหาของความรุนแรงในครอบครัว รากปัญหาของความรุนแรงในครอบครัว ทำความเข้าใจรากของปัญหาอย่างลึกซึ้ง อำนาจนิยมปิตาธิปไตย ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาของทุกคนในสังคม