< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 1 - ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร

บทเรียนที่ 5 - ใครสามารถตกเป็นผู้เสียหายได้บ้าง


ความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ ทุกเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำอาจเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใดก็ได้ไม่เว้นแม้แต่ครอบครัว ผู้ปกครอง คู่ชีวิต ไปจนถึงความรุนแรงที่สังคมและรัฐกระทำต่อบุคคลหรือกลุ่มคน

แม้ว่าบุคคลใดก็อาจเป็นผู้กระทำและถูกกระทำความรุนแรงได้ แต่โดยส่วนมากแล้ว ผู้ถูกกระทำความรุนแรงมักเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติในสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติมักเกิดขึ้นในสังคมที่มีลักษณะอำนาจนิยมแบบปิตาธิปไตย ซึ่งมองว่าเพศชายและลักษณะของความเป็นชายมีความสำคัญมากกว่าเพศหญิง และมองว่าผู้หญิงเหมาะกับการดูแลผู้อื่นอยู่แล้วตามธรรมชาติ ผู้หญิงจึงมักต้องทำหน้าที่แม่บ้าน ดูแลลูก ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว และดูแลจัดการความเป็นไปภายในบ้านให้เรียบร้อย ในขณะที่ผู้ชายถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่เหล่านั้นน้อยกว่า เพราะมองว่าหน้าที่ของผู้ชายคือการทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวหรือเป็นผู้นำในชุมชนหรือสังคม ผลจากความเชื่อนี้ทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน หรือทุ่มเทให้กับอาชีพการงานได้น้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจึงมักเข้าถึงโอกาสความก้าวหน้าและความมั่นคงทางอาชีพและการหารายได้ได้น้อยกว่าผู้ชาย ความเชื่อเหล่านี้ก่อให้เกิดภาวะที่อำนาจของผู้หญิงเเละผู้ชายไม่เท่ากันตั้งแต่ในสถาบันที่เล็กที่สุดของสังคม นั่นคือสถาบันครอบครัว ซึ่งสังคมไทยยังคงยึดถือค่านิยมสังคมในลักษณะดังกล่าว และปัญหานี้ยังเกิดขึ้นในหลายสังคมทั่วโลกด้วย (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับปิตาธิปไตยได้ที่ รากปัญหาของความรุนแรงในครอบครัว บทเรียน 1.3 ด้านล่าง)

ความรุนแรงด้วยเหตุเเห่งเพศ รวมไปถึงความรุนแรงในครอบครัว ยังถือเป็นความรุนแรงเชิงอำนาจด้วย เพราะการกระทำรุนแรงมักเกิดโดยผู้ที่มีอำนาจทางสังคมมากกว่ากระทำกับผู้ที่มีอำนาจทางสังคมน้อยกว่า ดังนั้น ผู้หญิงหรือเด็กหญิง ซึ่งสังคมมองว่ามีความสำคัญหรือสถานะด้อยกว่าเพศชาย จึงมักตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ผู้ชายเองก็สามารถตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้เช่นกัน และผู้หญิงก็สามารถเป็นผู้กระทำความรุนแรงได้หากมีแหล่งอำนาจทางสังคมในมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากมิติเรื่องเพศ เช่น ฐานะเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา สถานะของครอบครัวและเครือญาติ หรือตำแหน่งหน้าที่การงาน สูงกว่าผู้ถูกกระทำ เป็นต้น ซึ่งการวิเคราะห์อำนาจในสังคมสามารถดูได้จากแหล่งอำนาจอันเนื่องมาจากเพศ ชนชั้น ฐานะทางการเงิน และอื่น ๆ ที่หลากหลาย และแหล่งอำนาจเหล่านี้มักถูกทำให้กลายเป็นอัตลักษณ์ของบุคคลหรือกลุ่มคน บุคคลหรือกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางสังคมแตกต่างกันจึงมักมีอำนาจและโอกาสไม่เท่าเทียมกันในสังคม (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวิเคราะห์เรื่องอำนาจได้ในบทเรียนที่ 2 หัวข้อ การเสริมพลังภายใน หรือ Empowerment)

นอกจากผู้หญิงแล้ว กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ยังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงต่อการตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ เช่นการถูกคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ การเลือกปฏิบัติและการเหยียดเพศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สังคมมีระบบเพศที่ให้การยอมรับและรับรองว่าเพศมีได้เพียงสองเพศ คือ เพศชายและเพศหญิงเท่านั้น และปฏิเสธการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศ

สำหรับสังคมไทย แม้จะดูเหมือนว่ากลุ่มคน LGBTQIAN+ สามารถเปิดเผยตัวตนได้ แต่ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้ยังถูกเลือกปฏิบัติในหลายระดับ เช่น ในทางกฏหมาย คู่รัก LGBTQIAN+ ยังไม่ได้รับสิทธิในการสมรสที่เท่าเทียมกับคู่รักเพศชาย-หญิง ลูกที่เป็น LGBTQIAN+ อาจถูกพ่อแม่กดดันบังคับให้ไม่สามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศของตนอย่างเปิดเผย คนที่มีความรักต่อบุคคลเพศเดียวกัน อาจถูกครอบครัวกดดันให้แต่งงานกับบุคคลต่างเพศ ซึ่งถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ มายาคติหรือความเชื่อของสังคมที่มองว่าคู่รักมีได้เพียงแบบเดียว คือคู่รักต่างเพศชายและหญิง อาจกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้บุคคล LGBTQIAN+ ที่ถูกกระทำความรุนแรงโดยคู่รัก เข้าถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ยากขึ้น เพราะไม่มีบริการที่เข้าใจและมีความละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ในลักษณะนี้

บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงต่อการตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว คือ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งกรณีที่เด็กเป็นผู้ถูกกระทำรุนแรงโดยตรง และแม้ในกรณีที่ไม่มีความรุนแรงทางกายโดยตรงต่อเด็ก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กปลอดภัยจากความรุนแรง เพราะเด็กที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่สมาชิกมีการกระทำความรุนแรงต่อกัน จะได้รับผลกระทบซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการทั้งทางกายและจิตใจของเด็ก และมีข้อมูลว่าเด็กที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ หรือความรุนแรงทางเพศ รวมทั้งเด็กที่เป็นประจักษ์พยานความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งรวมถึงปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล นอกจากนี้อาจรวมไปถึง ภาวะโรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะขาดความภาคภูมิใจในตนเอง (low-self esteem) และอื่นๆ(7)

ในหลักสูตรนี้จะเน้นการทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายในครอบครัวที่เป็นผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก สำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าประเด็นความรุนแรงต่อเด็กและแนวทางการคุ้มครองเด็กอย่างลึกซึ้ง สามารถเรียนรู้ได้ที่หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็ก (Child Protection E-Learning) https://thaichildprotection.org/

ส่วนผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ให้มากขึ้น สามารถศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศรูปแบบต่าง ๆ ได้ที่ Trans Student Educational Resources : https://transstudent.org/gender/

ภาพประกอบ สถิติผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทย ปี 2561 ประกอบด้วยทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และ LGBTQIAN+ โดยมีผู้ถูกกระทำรุนแรงที่เป็นเพศหญิงมากที่สุด


(7) Monnat, S.M., Chandler, R.F. (2015), Long Term Physical Health Consequences of Adverse Childhood Experiences. The Sociologist Quarterly; 56(4): 723-752.

ภาพประกอบบทเรียน



สารบัญ

เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร ความรุนแรงในครอบครัวคือความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร ความรุนแรงในครอบครัวลักษณะต่างๆ ความรุนแรงในครอบครัวรูปแบบอื่นๆ ใครสามารถตกเป็นผู้เสียหายได้บ้าง ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว การออกจากความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่าย พลวัตของความรุนแรงระหว่างคู่รัก (Dynamics of Intimate Partner Violence) การบังคับควบคุม เทคนิคที่ผู้กระทำใช้ควบคุมผู้เสียหาย วัฏจักรความรุนแรงในครอบครัว รากปัญหาของความรุนแรงในครอบครัว รากปัญหาของความรุนแรงในครอบครัว ทำความเข้าใจรากของปัญหาอย่างลึกซึ้ง อำนาจนิยมปิตาธิปไตย ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาของทุกคนในสังคม