คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่
โมดูลที่ 1 - ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย
บทเรียนที่ 1 - ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย
บทเรียนต่อไปนี้มุ่งให้คำอธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้เกิดความเข้าใจกลไกทางกฎหมายและสามารถปรับใช้เพื่อการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่
ประเทศไทยได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนและพิเศษแตกต่างจากความรุนแรงทั่วไป
กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้กระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น (มาตรา 4)
ทั้งนี้ มีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีความรุนแรงในครอบครัวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว รายละเอียดปรากฏใน
- พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550
- พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กรณีผู้ได้รับผลกระทบอายุต่ำกว่า 18 ปี
- พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553
- ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ พ.ศ. 2554
ในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มีมาตรการคุ้มครองผู้เสียหาย โดยให้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาของสังคม ให้ผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรง โดยกฎหมายยังรับรองว่าผู้ที่แจ้งโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และทางปกครอง (มาตรา 5)
ทั้งนี้ผู้ใดพบเห็นหรือทราบว่ามีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวสามารถแจ้งเหตุไปยังสายด่วน 191 และ/หรือ 1300
ในกรณีที่ผู้เสียหายประสงค์จะดำเนินคดี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ภายใน 3 เดือน นับแต่ผู้เสียหายอยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้ (มาตรา 6) โดยสามารถแจ้งโดยวาจา เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด
อย่างไรก็ตามแม้จะพ้นระยะเวลา 3 เดือนอันเป็นการถือว่าขาดอายุความตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวในการขอคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ
ยินดีด้วย คุณจบโมดูล 1: ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย แล้ว
โมดูลต่อไป >บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว