คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่
โมดูลที่ 4 - ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี
บทเรียนที่ 1 - กระบวนการดำเนินคดีอาญาเบื้องต้น
ผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวมี 2 ทางเลือกในการดำเนินคดี โดย
- แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งในกรณีนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่เร่งรัดจัดการให้ผู้เสียหายได้พบพนักงานสอบสวน เพื่อร้องทุกข์ตามความต้องการของผู้เสียหาย ในกรณีมีเหตุจำเป็น พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. สามารถจดบันทึกเองแล้วแจ้งไปยังพนักงานสอบสวน และยังสามารถร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้ในกรณีสุดวิสัย(21)
- ผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีเอง โดยให้ทนายความช่วยดำเนินการฟ้องร้องโดยตรงต่อศาล
ที่สำคัญ พนักงานสอบสวนต้องรับแจ้งความและห้ามปฏิเสธว่าเหตุไม่ได้เกิดในเขตอำนาจของตน(22) ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนได้และพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามกฎหมาย ไม่ว่าเหตุจะเกิดหรือเชื่อได้ว่าเกิดภายในเขตอำนาจการสอบสวนของตนหรือไม่ก็ตาม(23)
เมื่อมีการสอบปากคำและรวบรวมข้อมูลจากผู้เสียหาย ตำรวจจะดำเนินการออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหา เมื่อตำรวจออกหมายเรียกถึง 2 ครั้ง แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ปรากฎตัว จึงมีการออกหมายจับ เมื่อมีการจับกุมผู้ถูกกล่าวหาแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหา และแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา โดยระหว่างทำการสอบสวน ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนเพื่อส่งสำนวนคดีให้อัยการ เพื่อพิจารณาว่าคดีที่เกิดขึ้นมีมูลเหตุหรือหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาและส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่ ถ้าอัยการ “สั่งฟ้อง” ย่อมหมายถึงว่ามีพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนเพียงพอต่อการดำเนินคดี หรือหากเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ อัยการอาจสั่งให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
เมื่อถึงขั้นตอนที่อัยการส่งฟ้องต่อศาลชั้นต้น ศาลจะพิจารณาเพื่อรับฟ้อง และมีการดำเนินกระบวนพิจารณา นัดวันพิจารณาคดี ไต่สวน สืบพยาน และพิพากษาคดี และเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว โจทก์ (ผู้เสียหาย) หรือ จำเลย (ผู้ต้องหา) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ หรือไม่ยอมรับในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ก็สามารถส่งฟ้องไปยังศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต่อไปได้ ซึ่งเมื่อศาลฎีกาได้พิพากษาแล้ว คำพิพากษาถือเป็นที่สุด(24)
อายุความ
กฎหมายได้กำหนดให้ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดที่ยอมความได้ (รวมถึงกรณีข่มขืนในคู่สมรส) ส่งผลให้ผู้เสียหายมีระยะเวลาเพียง 3 เดือนสำหรับการแจ้งความร้องทุกข์ ก่อนที่คดีจะหมดอายุความ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีความผิดเกี่ยวกับเพศ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดว่าความผิดดังกล่าวเป็นกรณีที่ยอมความได้และมีอายุความเพียงสามเดือน (ตามมาตรา 96 ของประมวลกฎหมายอาญา) แต่ประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 กำหนดให้ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ ซึ่งรวมถึงการข่มขืนในคู่รักที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย นอกจากนี้ ความผิดฐานอนาจารที่เกิดต่อหน้าธารกำนัล และความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา ก็ไม่ใช่ความผิดที่ยอมความได้เช่นกัน อายุความของความผิดกรณีต่าง ๆ เหล่านี้จึงมากกว่าสามเดือน (อายุความตามมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญา) ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้เสียหายและผู้ปฏิบัติงานปรึกษาทนายหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายก่อนตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ดำเนินคดีความใด ๆ
ทั้งนี้ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 วางหลักไว้ว่า อายุความเริ่มนับเมื่อผู้ถูกกระทำ “อยู่ในวิสัยและมีโอกาสที่จะแจ้งหรือร้องทุกข์ได้” ซึ่งหมายความว่า อายุความของคดีความรุนแรงในครอบครัวจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อผู้เสียหายมีความพร้อมและมีโอกาสที่จะแจ้งความร้องทุกข์ได้ ไม่ใช่เริ่มนับตั้งแต่วันเกิดเหตุ และแม้จะคดีจะขาดอายุความไป แต่ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในการขอคุ้มครองสวัสดิภาพ
(21) ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดําเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพบเห็นหรือได้รับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2551
(22) ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชนและสถาบันครอบครัว, เอกสารเผยแพร่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล.
(23) คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและมาตรการควบคุม ตรวจสอบเร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา, หน้าที่ 6 ข้อ 1.
(24) สำนักงานกิจการยุติธรรม (2020), เข้าใจการดำเนินคดีอาญาเบื้องต้นง่าย ๆ ใน 1 นาที, สืบค้นจาก: เว็บไซต์นี้; ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477; สำนักงานกิจการยุติธรรม (2020), แผนผังขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาเบื้องต้นสำหรับประชาชน, สืบค้นจาก: เว็บไซต์นี้; กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม (2563), การดำเนินคดีอาญาเบื้องต้น, สำนักงานศาลยุติธรรม,สืบค้นจาก เว็บไซต์นี้.