< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่

โมดูลที่ 4 - ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี

บทเรียนที่ 9 - การไกล่เกลี่ย


การไกล่เกลี่ย หมายถึง กระบวนการโดยสมัครใจของฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป โดยทำงานร่วมกับผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นกลาง เพื่อสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาและยุติความขัดแย้งเป็นการภายใน การไกล่เกลี่ยคือการหาทางแก้ไขที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ซึ่งจะต่างจากการพิพากษาคดีหรือการทำงานของอนุญาโตตุลาการ ที่การตัดสินใจจะออกมาในลักษณะตัดสินให้ฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายหนึ่งแพ้

พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 15 ถึงการที่คู่ความอาจยอมความกันได้ อย่างไรก็ตาม การไกล่เกลี่ยกรณีความรุนแรงในครอบครัวหรือความรุนแรงระหว่างคู่รักซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและมีอำนาจไม่เท่าเทียมกัน หากดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เอื้อ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงซ้ำหรือร้ายแรงยิ่งขึ้น จึงมีข้อควรระวังก่อนตัดสินใจเริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย

ความเสี่ยงและข้อควรระวังในการไกล่เกลี่ยกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงระหว่างคู่รัก

การไกล่เกลี่ยเป็นกระบวนการที่มีความเสี่ยง และใช้ได้เฉพาะในกรณีที่มีเงื่อนไขและข้อบังคับซึ่งทำให้แน่ใจได้ว่าผู้กระทำจะยุติการใช้ความรุนแรงเท่านั้น บ่อยครั้งที่กระบวนการนี้อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีในกรณีความรุนแรงในครอบครัวหรือความรุนแรงระหว่างคู่รัก เนื่องจากผู้กระทำอาจแสดงท่าทีสงบและระงับพฤติกรรมรุนแรงในระหว่างขั้นตอนการดำเนินคดีหรือการไกล่เกลี่ย จนทำให้ผู้ไกล่เกลี่ยเข้าใจผิดว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว แต่หากผู้กระทำและผู้ถูกกระทำยังอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน และความสงบระงับของผู้กระทำอาจเป็นขั้นตอนหนึ่งของวัฏจักรความรุนแรงในชีวิตคู่ที่รอเวลาปะทุขึ้นอีกครั้ง (ดูคำอธิบายวัฏจักรความรุนแรงในบทเรียนที่ 1) การไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ยอมความกันโดยไม่มีการลงโทษทางอาญาต่อผู้กระทำ รวมถึงการไกล่เกลี่ยที่ส่งผลให้คู่ความกลับไปคงความสัมพันธ์กัน อาจนำมาซึ่งอันตรายจากการกระทำความรุนแรงซ้ำ หรือการยกระดับความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นต่อตัวผู้ถูกกระทำ

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย ผู้ปฏิบัติงานต้องประเมินและตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อน ว่าผู้เสียหายตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยตามความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง และไม่ได้ตกลงเข้าสู่กระบวนการในขณะที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุม บังคับ กดดัน หรือการโน้มน้าวโดยผู้กระทำความรุนแรง ผู้ปฏิบัติงาน หรือบุคคลอื่น ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ

นอกจากนี้ ผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยพึงตระหนักว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจากพฤติการณ์ของผู้กระทำ และพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย ผู้กระทำความรุนแรงพึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองในทางใดทางหนึ่ง และผู้ไกล่เกลี่ยต้องระวังไม่ให้เกิดการกล่าวโทษผู้เสียหายในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย ไม่ว่าจะโดยผู้กระทำหรือบุคคลอื่น เช่น กล่าวโทษว่าผู้เสียหายเป็นต้นเหตุหรือมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น และขอหรือกำหนดให้ผู้เสียหายต้องแก้ไขปรับปรุงพฤิตกรรมของตนเองเพื่อหยุดความรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายมองว่าเป็นการเข้าข้างผู้กระทำ จึงสูญเสียความเชื่อมั่นในกระบวนการ และเสียความไว้วางใจต่อผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง

การมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการไกล่เกลี่ย หรือการเสริมศักยภาพของผู้ไกล่เกลี่ยให้มีความตระหนักและละเอียดอ่อนต่อเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลกระทบต่อความรุนแรงในครอบครัวและในชีวิตคู่ และการที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องมีกระบวนการเสริมพลังใจ (Empower) ผู้เสียหาย ทั้งก่อนตัดสินใจและเมื่อเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว จะสามารถช่วยลดความเสี่ยง และทำให้การไกล่เกลี่ยเป็นทางออกหนึ่งของกรณีความรุนแรงได้

องค์ประกอบที่สำคัญ และความเสี่ยงในการไกล่เกลี่ยกรณีความรุนแรงระหว่างคู่รัก

ความรุนแรงระหว่างสามีภรรยา คู่ชีวิต หรือคู่รัก มีปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน และอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคู่กรณี ซึ่งมักรวมถึงการควบคุมและการถูกทำให้อยู่ในภาวะพึ่งพิงด้วย ผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยจึงควรพิจารณาถึงองค์ประกอบและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้

เพิ่มเติม:

การไกล่เกลี่ยในสถานที่ส่วนตัวอาจเอื้อให้ผู้กระทำสามารถใช้อำนาจซึ่งตนมีมากกว่าในการกล่าวโทษผู้เสียหาย การไกล่เกลี่ยจึงเสี่ยงที่จะกลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของผู้กระทำความรุนแรงในการควบคุมหรือกดดันผู้เสียหาย ดังนั้น หากผู้เสียหายเลือกที่จะไกล่เกลี่ยแล้ว ควรดำเนินการในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยมีบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจอยู่ร่วมด้วย เช่น ในห้องไกล่เกลี่ยที่ที่ทำการศาล ศูนย์ไกล่เกลี่ยในพื้นที่ชุมชน เป็นต้น และหากประเมินได้ว่าผู้เสียหายไม่พร้อมเผชิญหน้า ควรมีการขอดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือหากมีความจำเป็นต้องดำเนินการในวันเดียวกัน ณ สถานที่ที่กำหนด เช่น ศาล พนักงานเจ้าหน้าที่ควรทำให้แน่ใจว่าผู้เสียหายจะรู้สึกปลอดภัย และควรกำหนดเวลาให้ผู้กระทำและผู้เสียหายเดินทางมาถึงและเดินทางออกจากสถานที่ไกล่เกลี่ยไม่พร้อมกันและไม่ไล่เลี่ยกัน เพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้กระทำจะไม่มีโอกาสเข้าถึงตัวผู้เสียหายก่อนหรือหลังการดำเนินการไกล่เกลี่ย

กรณีที่ผู้เสียหายร้องขอการไกล่เกลี่ย

  • ผู้ปฏิบัติงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ผู้จัดการรายกรณี ผู้ปฏิบัติงานช่วยผู้เสียหาย (caseworker) หรืออาสาสมัครช่วยเหลือผู้เสียหาย เป็นต้น ไม่ควรทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยด้วยตนเอง ผู้ไกล่เกลี่ยควรเป็นบุคลากรที่มีหน้าที่เฉพาะแยกต่างหากจากบทบาทการจัดการรายกรณี แม้ว่าผู้เสียหายจะร้องขอให้ช่วยไกล่เกลี่ย แต่หากผู้ที่ทำงานกับผู้เสียหายเปลี่ยนบทบาทมาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างคู่กรณีเสียเอง จะขัดแย้งและกระทบต่อบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้เรียกร้องสิทธิให้ผู้เสียหาย
  • ผู้ทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายควรวางบทบาทในฐานะผู้ให้ข้อมูลและสนับสนุนผู้เสียหายทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการไกล่เกลี่ย โดยการอธิบายให้ผู้เสียหายเข้าใจว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยมีขั้นตอนและวิธีการอย่างไร มีใครเข้าร่วมบ้าง แต่ละฝ่ายจะมีบทบาทอย่างไร มีความเสี่ยงและข้อควรระวังอะไรบ้าง รวมทั้งแจ้งสิทธิและทางเลือกอื่น ๆ ที่มีสำหรับผู้เสียหาย เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เสียหายจะได้รับข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนการตกลงใจไกล่เกลี่ย (informed consent)
  • ผู้ปฏิบัติ/หน่วยงานที่ช่วยเหลือผู้เสียหาย สามารถทำงานกับผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอมหรือหน่วยงานที่จัดให้มีการไกล่เกลี่ย เพื่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการที่มีความละเอียดอ่อนต่อผู้เสียหาย และไม่กระทำซ้ำหรือสร้างผลกระทบทางลบต่อผู้เสียหาย(31)

สิ่งที่ควรทำก่อน ระหว่าง และหลังกระบวนการไกล่เกลี่ย

  • มีกระบวนการทำงานด้านจิตสังคมเพื่อเสริมพลัง (Empower) ผู้เสียหาย
  • อธิบายให้ผู้เสียหายเข้าใจถึงกระบวนการไกล่เกลี่ย และทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่ผู้เสียหายจะต้องเปิดเผยในระหว่างการไกล่เกลี่ย
  • อธิบายทางเลือกที่จะสามารถช่วยให้กระบวนการมีความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น การให้ผู้เสียหายเขียนสิ่งที่ตนต้องการเตรียมไว้ เพื่อที่ผู้เสียหายจะสามารถเรียกร้องสิทธิของตนได้อย่างชัดเจนแม้ในภาวะที่ต้องเผชิญความกดดันในห้องไกล่เกลี่ย ให้ผู้เสียหายเลือกว่าอยากให้ใครเข้าไปอยู่ร่วมในห้องไกล่เกลี่ยกับตน โดยให้บุคคลนั้นคอยสอดส่องดูแลความรู้สึกของผู้เสียหาย เช่น สังเกตว่าผู้เสียหายต้องการพักหรือยุติกระบวนการหรือไม่ เป็นต้น
  • วางแผนการเดินทางไปสถานที่ไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย ทำให้แน่ใจว่าผู้เสียหายไม่ต้องเผชิญหน้ากับผู้กระทำ ทั้งก่อน หลัง หรือระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย หากผู้เสียหายรู้สึกไม่ปลอดภัย สามารถขอไกล่เกลี่ยโดยไม่เผชิญหน้าได้
  • วางแผนล่วงหน้าว่ามีความเสี่ยงหรือความกังวลในเงื่อนไขของการไกล่เกลี่ยใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นก่อน ระหว่าง และหลังจากการไกล่เกลี่ยหรือไม่

(31) MGBViE (2019) [Managing Gender-Based Violence in Emergencies]. MGBViE in-person training. International Medical Corps. Istanbul, Turkey. July.

ภาพประกอบบทเรียน



สารบัญ

การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี กระบวนการดำเนินคดีอาญาเบื้องต้น การเตรียมหลักฐานเมื่อจะไปแจ้งความร้องทุกข์ กระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ สิทธิในการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา สิทธิของผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน การส่งสำนวนฟ้องให้อัยการ ขั้นตอนการฟ้องคดีต่อศาล การไกล่เกลี่ย การตั้งผู้ประนีประนอม สิทธิการเยียวยา สิทธิการได้รับการเยียวยาคืออะไร กองทุนยุติธรรม