< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่

โมดูลที่ 2 - บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

บทเรียนที่ 1 - บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว


พนักงานเจ้าหน้าที่

หนึ่งในผู้มีอำนาจหน้าที่สำคัญตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว คือ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ซึ่งหมายถึงผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตาม พ.ร.บ. นี้ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องผ่านการอบรมและการประเมินเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ด้านการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ตามหลักสูตรที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนด(1) และพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. นี้ ยังหมายความรวมถึงพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย(2)

อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พบเห็นหรือได้รับแจ้งเหตุการกระทำความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังนี้

  • เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เกิดเหตุ เพื่อสอบถามผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หรือบุคคลอื่นในที่นั้น เกี่ยวกับการกระทำที่ได้รับแจ้ง
  • จัดให้ผู้ถูกกระทำเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ และขอรับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ และ
  • ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำมีความประสงค์จะดำเนินคดี ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีการร้องทุกข์ตามกฎหมาย
  • หากผู้ถูกกระทำไม่อยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ร้องทุกข์แทนได้

วิธีการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพบเห็นหรือได้รับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว

ระเบียบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(4) ระบุว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พบหรือได้รับแจ้งเหตุการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะแจ้งเป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีอื่นการใด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เกิดเหตุ เพื่อดําเนินการยุติการกระทําความรุนแรงในครอบครัว หากผู้กระทําความรุนแรงในครอบครัวขัดขืน หรือไม่มีผู้ใดออกมาพบ หรือไม่สามารถเปิดประตูให้เข้าไปในสถานที่นั้นได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจเพื่อเข้าไปช่วยระงับเหตุ และช่วยเหลือผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัว

เมื่อได้สอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงที่ได้รับแจ้งจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หาแนวทางการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ ซึ่งรวมถึงการส่งตัวผู้ถูกกระทำที่ได้รับอันตรายทางกายและจิตใจไปรับการรักษาพยาบาล และประสานงานกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้การปรึกษาแนะนำแก่ผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำด้วย

นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องชี้แจงให้ผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัวทราบถึงสิทธิในการได้รับความคุ้มครอง ในการกําหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์เบื้องต้นแก่ผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัวชั่วคราว รวมทั้งการออกคําสั่งห้ามผู้กระทําความรุนแรงในครอบครัวไปยังที่พํานักของครอบครัว หรือการออกคําสั่งห้ามเข้าใกล้ตัวบุคคลในครอบครัว หรือการดูแลบุตร เป็นต้น ตลอดจนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเบื้องต้นแก่ผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัวด้วย

หน้าที่เกี่ยวกับการร้องทุกข์

หากผู้เสียหายต้องการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รีบจัดการให้ผู้เสียหายพบกับพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์ ในกรณีมีเหตุจําเป็นเร่งด่วนพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถทำการจดบันทึกเอง แล้วให้รีบส่งไปยังพนักงานสอบสวนและให้ข้อมูลที่สำคัญไว้กับพนักงานสอบสวน

ถ้าผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัว ประสงค์จะร้องทุกข์แต่ไม่อยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้เอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าดําเนินการร้องทุกข์แทนต่อพนักงานสอบสวน(5)

ในส่วนของบุคคลอื่นที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว แม้จะไม่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวก็ระบุให้ผู้พบเห็นหรือทราบถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อำนาจในการกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว

นอกจากนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ยังระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีฐานะเทียบได้ไม่ต่ำกว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ถูกกระทำเป็นการชั่วคราว(6)

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีคำสั่ง พม. ที่ 274/2565 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีอำนาจในการออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่บุคคลผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นการชั่วคราว โดยระบุผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจออกคำสั่ง ได้แก่

  1. นายอำเภอ
  2. ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
  3. หัวหน้าสถานีตำรวจ
  4. ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
  5. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนษุย์จังหวัด(7)

พนักงานสอบสวน

เจ้าหน้าที่รัฐอีกตำแหน่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ได้แก่ “พนักงานสอบสวน” ซึ่งหมายถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีให้เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในท้องที่ใดไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี ให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ. นี้(8)

เมื่อมีการร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ. แล้ว กฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยเร็ว และส่งตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว สำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมงนับแต่ได้ตัวผู้กระทำความรุนแรง และหากมีเหตุจำเป็นให้ผัดฟ้องได้คราวละไม่เกิน 6 วัน และไม่เกิน 3 คราว(9)

ในการสอบปากคำผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำรุนแรงร้องขอร่วมอยู่ด้วยในขณะสอบปากคำเพื่อให้คำปรึกษา ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน พนักงานสอบสวนอาจสอบปากคำผู้ถูกกระทำโดยไม่รอให้มีบุคคลดังกล่าวร่วมอยู่ด้วย แต่ต้องบันทึกเหตุผลที่ไม่สามารถรอได้ไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย(10)

ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำประสงค์จะยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์ในชั้นสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นก่อนการยอมความหรือการถอนคำร้องทุกข์ โดยอาจกำหนดให้ผู้กระทำความรุนแรงชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ทำงานบริการสาธารณะ ละเว้นการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือทำทัณฑ์บนไว้ เพื่อเป็นเงื่อนไขให้ผู้กระทำความรุนแรงปฏิบัติตาม และหากผู้กระทำความรุนแรงได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ครบถ้วนแล้ว จึงจะให้มียอมความหรือถอนคำร้องทุกข์(11) ทั้งนี้ การยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์ต้องเป็นไปโดยความประสงค์และความสมัครใจของผู้เสียหายอย่างแท้จริง ไม่ใช่เกิดจากการกดดัน ข่มขู่ หรือหลอกลวงจากบุคคลใด และผู้กระทำต้องรับที่จะทำตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงด้วย

อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานหรือบุคลากรอื่นในกรณีฉุกเฉิน

หน่วยงานรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีหน่วยงานรับแจ้งเหตุในกรณีฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวหลัก ๆ คือ สายด่วน 191 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำหรับการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย และสายด่วน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน สำหรับกรณีที่เข้าข่ายเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์(12)

(13) โครงสร้างการปฎิบัติงานของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ

ตำรวจสายตรวจ

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกรณีฉุกเฉินอีกตำแหน่งหนึ่ง ได้แก่ ตำรวจสายตรวจ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ ตำรวจสายตรวจต้องรับแจ้งเหตุและลงพื้นที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว มีอำนาจหน้าที่ในการจับบุคคลที่กำลังกระทำผิดซึ่งหน้า มีพยานตามสมควรว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดทางอาญา หรือมีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายกับบุคคลรอบตัว(14)

ตำรวจสืบสวน

ตำรวจสืบสวนสามารถปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวกับการยุติความรุนแรงในครอบครัวได้ โดยการเข้าตรวจค้นและจับกุมหากมีเหตุให้สงสัยหรือได้รับแจ้งว่ามีการกระทำความผิด ทั้งนี้ โดยหลักแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าจับกุมหรือค้นในที่รโหฐาน (ที่ส่วนตัว เช่น บ้าน ที่อยู่อาศัย) หรือค้นตัวคนหรือสิ่งของได้ จะต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล(15) เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีการวางหลักไว้ในมาตรา 69 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 เช่น เพื่อพบและช่วยผู้เสียหายที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว เป็นต้น ซึ่งเป็นกรณีที่มักเกิดขึ้นในความรุนแรงระหว่างคู่รักและในความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศรูปแบบอื่น ๆ เช่นการกักขังหน่วงเหนี่ยวเพื่อการข่มขืนกระทำชำเรา

อย่างก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจลงพื้นที่ค้นและจับกุมได้ แม้ไม่มีหมายค้น หากเป็นกรณีตามมาตรา 92 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น

  • เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในบ้าน มีเสียงอื่น ๆ หรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในบ้านหรือสถานที่รโหฐานนั้น
  • เมื่อปรากฎความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน เพื่อค้นยึดสิ่งของซึ่งเป็นพยานหลักฐานหรือมีเหตุให้สงสัยว่าจะใช้ในการกระทำความผิด และขยายผลนำข้อเท็จจริงเข้าสู่สำนวนการสอบสวนต่อไป
  • เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจค้นยึดสิ่งของซึ่งเป็นพยานหลักฐานหรือมีเหตุให้สงสัยว่าจะใช้ในการกระทำความผิดและขยายผลนำข้อเท็จจริงเข้าสู่กระบวนการสืบสวนต่อไป

นอกจากตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองที่สามารถลงพื้นที่ในกรณีเร่งด่วนได้แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวยังมีอำนาจหน้าที่ลงพื้นที่ในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย การแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถทำได้โดยผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

บุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประนีประนอม จะมีการนำเสนอในที่บทเรียนที่ 5.4 ต่อไป

หมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อกรณีฉุกเฉินระหว่างเกิดเหตุการณ์ที่มีความจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทันที

หมายเลข 191 - ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจป้องกันและปราบปรามเพื่อให้มาในที่เกิดเหตุโดยเร่งด่วน

หมายเลข 1669 - ติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน

หมายเลข 1300 - ติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอคำปรึกษาและช่วยประสานงานเพื่อการช่วยเหลือภายใน 24 ชั่วโมง

หมายเลข 1387 - ติดต่อสายเด็ก กรณีผู้เสียหายอายุต่ำกว่า 18 ปี


(1) ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2556, ข้อ 5(5).

(2) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, มาตรา 3.

(3) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, มาตรา 6.

(4) ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดําเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพบเห็นหรือได้รับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2551 เล่ม 125 ตอนพิเศษ 126 ง ราชกิจจานุเบกษา 1 สิงหาคม 2551.

(5) ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดําเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพบเห็นหรือได้รับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2551 เล่ม 125 ตอนพิเศษ 126 ง ราชกิจจานุเบกษา 1 สิงหาคม 2551

(6) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, มาตรา 10.

(7) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี https://pathumthani.m-society.go.th.

(8) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, มาตรา 3.

(9) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, มาตรา 8.

(10) อ้างแล้ว

(11) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, มาตรา 12.

(12) ปัจจุบัน (ปลายปี 2566) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างการควบรวมระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินของประเทศไทยให้เป็นระบบเดียว โดยใช้หมายเลข 191 ซึ่งจะมีการคัดกรองประเด็นปัญหาและส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(13) ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 สุราษฎร์ธานี, (2561), โครงสร้างการปฎิบัติงานของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ.

(14) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, (2553), คู่มือปฏิบัติงานของตำรวจสายตรวจ.

(15) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477, มาตรา 57.

ภาพประกอบบทเรียน ภาพประกอบบทเรียน ภาพประกอบบทเรียน


ยินดีด้วย คุณจบโมดูล 2: บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว แล้ว

โมดูลต่อไป >
การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว


สารบัญ

การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี กระบวนการดำเนินคดีอาญาเบื้องต้น การเตรียมหลักฐานเมื่อจะไปแจ้งความร้องทุกข์ กระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ สิทธิในการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา สิทธิของผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน การส่งสำนวนฟ้องให้อัยการ ขั้นตอนการฟ้องคดีต่อศาล การไกล่เกลี่ย การตั้งผู้ประนีประนอม สิทธิการเยียวยา สิทธิการได้รับการเยียวยาคืออะไร กองทุนยุติธรรม