คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่
โมดูลที่ 4 - ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี
บทเรียนที่ 4 - สิทธิในการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา
สิทธิในการฟ้องคดีเอง
โดยหลักแล้วการดำเนินคดีอาญาในประเทศไทยเป็นการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ มีกลไกของรัฐที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เช่น ตำรวจ อัยการ และศาล ซึ่งกว่าจะมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ ต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอน มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดี จนเป็นที่เชื่อได้ว่าน่าจะมีการกระทำความผิดจริง พนักงานอัยการจึงจะฟ้องคดีจำเลยต่อศาล แต่การดำเนินคดีอาญาของไทยก็ให้สิทธิผู้เสียหายในการฟ้องคดีอาญาด้วยตนเองได้ด้วย ตามมาตรา 28 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุว่าบุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย
สิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา
ผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธดังต่อไปนี้
- สิทธิในการร้องทุกข์และถอนคำร้องทุกข์
- สิทธิในการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาด้วยตนเองและถอนฟ้องคดีอาญา ตลอดจนสิทธิในการเป็นโจทก์ฟ้องและถอนฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
- สิทธิในการเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ
- สิทธิให้จัดหาล่ามหรือล่ามภาษามือ
- สิทธิในการยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด
- สิทธิในการยุติคดี ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะยุติการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดได้ โดยมีเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ที่ระบุว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้ (1) โดยความตายของผู้กระทำผิด (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือ ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
- สิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องต่อศาล
- สิทธิเรียกร้องทางแพ่งในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
- สิทธิในการคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย
- ในการชี้ตัวผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ต้องจัดให้มีสถานที่เหมาะสมและป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องหาเห็นตัวผู้เสียหาย
-
สิทธิที่จะให้ปากคำและถูกสอบสวนในสถานที่ที่เหมาะสม รวมถึงมีบุคลากรที่เหมาะสมร่วมในการเข้าฟัง
- สิทธิข้อนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นเล็งเห็นถึงสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยในการสอบปากคำผู้ถูกกระทำ พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้เสียหายร้องขอร่วมอยู่ด้วยเพื่อให้คำปรึกษา (ในกรณีเร่งด่วน มีเหตุอันควรให้ไม่สามารถรอบุคคลดังกล่าว พนักงานสอบสวนต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวน) และในกรณีผู้ให้ปากคำเป็นเด็ก นอกจากจะมีบุคคลที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังต้องมีพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วย
-
มีสิทธิถามคำให้การของผู้ต้องหาจากพนักงานสอบสวน
- โดยปกติหากเกิดข้อพิพาทกันทางอาญา คู่กรณีจะต้องให้การกับเจ้าพนักงานสอบสวนเพื่อประโยชน์ในการค้นหาความจริงและดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และรัฐได้ให้สิทธิที่ผู้เสียหายจะซักถามคำให้การของผู้ต้องหาได้ เพื่อเป็นประโยชน์กับตัวผู้เสียหายเอง ทั้งในการเตรียมการของทนายความของผู้เสียหาย ในการต่อสู้ในชั้นศาล และเพื่อความโปร่งใสของพนักงานสอบสวน
-
มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องร้องต่อศาลขอให้สืบพยานไว้ล่วงหน้า
- ยื่นอุทธรณ์และ/หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ หรือคดีที่เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ
- มีสิทธิที่จะขอทราบข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และตรวจสอบเอกสารตลอดจนพยานหลักฐานของตนโดยผู้เสียหายสามารถให้ที่ปรึกษาทางกฎหมายเข้าร่วมตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสารในทางคดีว่าครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร เพื่อประโยชน์สูงสุดในทางการผดุงไว้ซึ่งความถูกต้องของคดีความนั่นเอง
- มีสิทธิขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายจากรัฐ โดยขอรับจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม