< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่

โมดูลที่ 4 - ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี

บทเรียนที่ 10 - การตั้งผู้ประนีประนอม


พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 16 กำหนดว่าศาลอาจตั้งผู้ประนีประนอม ประกอบด้วยบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็นบิดา มารดา ผู้ปกครอง ญาติของคู่ความ หรือบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลเห็นสมควร เพื่อให้คำปรึกษาหรือช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ยอมความกัน หรืออาจมอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์ หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลใดช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ยอมความกันก็ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายมีสิทธิร้องขอต่อศาลว่าไม่ต้องการไกล่เกลี่ยและเผชิญหน้ากับผู้กระทำได้ ทั้งนี้ ข้อควรระวังประการหนึ่งในการไกล่เกลี่ย คือ ผู้กระทำและผู้เสียหายมี ‘อำนาจไม่เท่ากัน’ การจัดให้มีการไกล่เกลี่ยโดยขาดความละเอียดอ่อนในเรื่องนี้ อาจกลายเป็นการกระทำซ้ำกับผู้เสียหายที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรืออาจมีผลการไกล่เกลี่ยที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย

หลักเกณฑ์การไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว

ในการไกล่เกลี่ย ศาลจะมีการแต่งตั้งผู้ประนีประนอมที่เหมาะสม ซึ่งผู้ประนีประนอมที่ได้รับการแต่งตั้ง ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางของตนให้คู่ความทราบโดยทันที ผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำ (คู่ความ) มีสิทธิ์ที่จะคัดค้านผู้ประนีประนอมได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางของผู้ประนีประนอม

ในกรณีความรุนแรงในครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเกี่ยวข้อง และจําเป็นต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพด้วย ศาลอาจเรียกพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กมาร่วมในการไกล่เกลี่ย

ในกรณีมีเหตุจำเป็นที่ผู้เสียหายไม่สามารถไปศาลได้ ผู้เสียหายอาจให้อำนาจตัวแทนเข้าร่วมการประชุมไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความหากผู้ประนีประนอมเห็นสมควร ซึ่งนอกจากคู่ความและ/หรือตัวแทนของคู่ความแล้ว เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้นจึงจะมีสิทธิเข้าร่วมการประชุมไกล่เกลี่ย ซึ่งได้แก่ บิดามารดา ผู้ปกครอง ญาติของคู่ความ ทนายความของคู่ความ หรือบุคคลอื่นที่ผู้ประนีประนอมเห็นสมควร

วิธีการไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว

การไกล่เกลี่ยให้ดําเนินการในศาลในห้องที่จัดไว้เพื่อการไกล่เกลี่ยโดยเฉพาะ แต่ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นและคู่ความทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ จะดําเนินการไกล่เกลี่ย ณ สถานที่อื่นอันสมควรโดยได้รับอนุญาตจากผู้รับผิดชอบราชการศาลก็ได้

ก่อนเริ่มไกล่เกลี่ย ผู้ประนีประนอมจะแจ้งให้คู่ความทราบถึงแนวทางและขั้นตอนการไกล่เกลี่ย และแจ้งว่าข้อเสนอและคําแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในชั้นไกล่เกลี่ยจะถูกเก็บเป็นความลับ และหากคู่ความไม่สามารถตกลงกันได้ ข้อเสนอและคำแถลงดังกล่าวจะไม่ถูกนําไปใช้ในการพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าวแต่อย่างใด

หากผู้เสียหายไม่ประสงค์ให้ทำการไกล่เกลี่ยอีกต่อไป ผู้เสียหายมีสิทธิแจ้งให้ผู้ประนีประนอมหยุดการไกล่เกลี่ยและรายงานให้ศาลทราบ ศาลสามารถมีคําสั่งยุติการไกล่เกลี่ยได้ หากเห็นว่าการดําเนินการไกล่เกลี่ยของผู้ประนีประนอมจะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี(32)

ข้อควรระวัง

ผู้ประนีประนอมที่ศาลแต่งตั้งอาจไม่ได้มีความเข้าใจบริบทของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมและผลต่อความรุนแรง ตลอดลจนผลกระทบทางจิตใจของผู้เสียหาย สิทธิและเสียงของผู้เสียหายจึงอาจไม่ได้รับการเคารพอย่างแท้จริง ทำให้กระบวนการไกล่เกลี่ยอาจเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหายจากความรุนแรง

ดังนั้น ในทางปฏิบัติระดับสากล เพื่อทำให้แน่ใจว่าสิทธิของผู้เสียหายจะได้รับการคุ้มครอง ผู้จัดการรายกรณีอาจต้องมีการประชุมร่วมกับผู้ประนีประนอมก่อนที่จะมีกระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่ออธิบายให้เข้าใจถึงความซับซ้อนและความเสี่ยงในกรณีความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการทำให้ผู้ประนีประนอมเข้าใจเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ และคอยกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรง ผู้ประนีประนอมควรมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าความรุนแรงที่ผู้เสียหายได้ประสบมานั้น อาจส่งผลต่อการตัดสินใจตกลงในเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมเมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้กระทำ และแม้ผู้เสียหายจะเป็นฝ่ายตกลงไกล่เกลี่ยแบบเผชิญหน้า แต่ก็ไม่ได้เครื่องประกันว่ากระบวนการนั้นจะปราศจากความกลัวหรือกดดันข่มขู่ให้จำยอม นอกจากนี้ ผู้จัดการรายกรณีควรทำงานกับผู้ไกล่เกลี่ยล่วงหน้า เพื่อให้รับทราบถึงความต้องการของผู้เสียหาย เพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิและเสียงของผู้เสียหายจะไม่ถูกกลบหายไปในกระบวนการไกล่เกลี่ย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยในกระบวนการศาล

ประธานศาลฎีกาออกคําแนะนําในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประนีประนอมคดีครอบครัว ดังต่อไปนี้

  • ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวจักต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความระมัดระวัง และจะต้องไม่กระทําการใด ๆ อันอาจเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีขาดความเป็นอิสระหรือความยุติธรรม
  • ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวจักต้องวางตนเป็นกลางในการไกล่เกลี่ย จะต้องไม่ทําให้คู่ความสงสัยว่าฝักใฝ่ช่วยเหลือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
  • ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวจักต้องไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใด ๆ อันอาจทําให้การไกล่เกลี่ยเสียความเป็นกลาง
  • ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวพึงช่วยเหลือสนับสนุนการเจรจาระหว่างคู่ความเพื่อหาแนวทางในการยุติข้อพิพาท โดยไม่ออกความเห็นใด ๆ อันเป็นการชี้ขาดเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทและทางเลือกในการตกลงระงับข้อพิพาท เว้นแต่คู่ความจะได้ตกลงกันให้ผู้ประนีประนอมออกความเห็นเช่นว่าน้ัน
  • ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวจักต้องละเว้นไม่ออกคําสั่งหรือใช้อิทธิพลใด ๆ เพื่อให้คู่ความต้องจํายอมเข้าร่วมในการไกล่เกลี่ย หรือตัดสินใจในกระบวนการไกล่เกลี่ยโดยฝ่าฝืนต่อความสมัครใจของคู่ความ
  • ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวจักต้องไม่รับทรัพย์สินหรือแสวงหาประโยชน์ใด ๆ จากคู่ความหรือจากบุคคลอื่นใดอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งต้องดูแลมิให้บุคคลในครอบครัวกระทําการดังกล่าวด้วย(33)

อ่านเพิ่มเติม: https://opsc.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/1145/iid/201393


(32) ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และการรายงานผลการไกล่เกลี่ยในคดีครอบครัว พ.ศ. 2554 เล่ม 128 ตอนที่ 84 ก ราชกิจจานุเบกษา 25 พฤศจิกายน 2554

(33) ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และการรายงานผลการไกล่เกลี่ยในคดีครอบครัวม พ.ศ. ๒๕๕๔ เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๘๔ ก ราชกิจจานุเบกษา ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ และไพโรจน์ วายุภาพ, คําแนะนําของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าท่ีของผู้ประนีประนอมคดีครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๕ , ประกาศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555



ยินดีด้วย คุณจบโมดูล 4: ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี แล้ว

โมดูลต่อไป >
สิทธิการเยียวยา


สารบัญ

การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี กระบวนการดำเนินคดีอาญาเบื้องต้น การเตรียมหลักฐานเมื่อจะไปแจ้งความร้องทุกข์ กระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ สิทธิในการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา สิทธิของผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน การส่งสำนวนฟ้องให้อัยการ ขั้นตอนการฟ้องคดีต่อศาล การไกล่เกลี่ย การตั้งผู้ประนีประนอม สิทธิการเยียวยา สิทธิการได้รับการเยียวยาคืออะไร กองทุนยุติธรรม