คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่
โมดูลที่ 3 - การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
บทเรียนที่ 1 - การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
สิ่งสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว คือการคำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้เสียหายเป็นอันดับแรก ซึ่งการขอคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้เสียหายหรือผู้ช่วยเหลือผู้เสียหายสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ
ในขั้นตอนการสอบสวนดำเนินคดี พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีฐานะเทียบได้ไม่ต่ำกว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีอำนาจออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้เสียหายเป็นการชั่วคราวได้เท่าที่จำเป็นและสมควร ซึ่งอาจรวมถึง
- การให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์
- การให้ผู้กระทำชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์
- การห้ามผู้กระทำเข้าไปในที่พักของบุคคลในครอบครัว หรือเข้าใกล้ตัวบุคคลใดในครอบครัว
- กำหนดวิธีการดูแลบุตร
หลังจากที่ได้ออกคำสั่งแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอคำสั่งดังกล่าวต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อให้ศาลพิจารณา หากศาลเห็นชอบก็ให้คำสั่งนั้นมีผลต่อไป แต่หากไม่เห็นชอบ ศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง หรือเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้
ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับคำสั่งนี้ สามารถอุทธรณ์ให้ศาลทบทวนคำสั่งได้ภายใน 30 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง โดยคำตัดสินของศาลถือเป็นที่สิ้นสุด หากผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาล ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(16)
นอกจากนี้ ในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลยังมีอำนาจออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ในลักษณะเดียวกับคำสั่งข้างต้น หรือในลักษณะอื่นตามที่เห็นสมควรด้วย ในกรณีที่เหตุการณ์หรือพฤติการณ์ของคู่กรณีเปลี่ยนไปแล้ว ศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง หรือเพิกถอนคำสั่งได้
ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของศาล ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(17)
กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
ใครคือผู้มีสิทธิขอคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากความรุนแรง
ผู้เสียหายที่พึงได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนฯ มี 2 กลุ่ม ได้แก่
- ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
- เด็กที่ได้รับการปฏิบัติโดยมิชอบ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพคดีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่
- ผู้เสียหาย
-
ผู้ทำการแทนในกรณีที่ผู้เสียหายไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอได้ ได้แก่
- ญาติ
- พนักงานสอบสวน
- อัยการ
- พนักงานเจ้าหน้าที่
- องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใด เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพคดีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่
- เด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี)
- ผู้ปกครอง เช่น บิดามารดา ผู้อนุบาล ผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายความรวมถึงพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ผู้ปกครองสวัสดิภาพ นายจ้าง ตลอดจนบุคคลอื่นที่รับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดู หรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย(18)
วิธียื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพ
ผู้ร้องสามารถร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวที่ผู้ร้องมีถิ่นที่อยู่หรือมีภูมิลำเนาอยู่ หรือศาลที่มูลเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น โดยมีวิธีร้องดังนี้
- ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อศาล
- แถลงด้วยวาจา
ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินสามารถขอคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพด้วยวาจาได้ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินรวมไปกับคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพได้ หรือจะยื่นในเวลาใดๆ ระหว่างไต่สวนก็ได้
ขั้นตอนการดำเนินการของศาลเมื่อได้รับคำร้อง
- ให้ศาลไต่สวนโดยไม่ชักช้า และอาจใช้วิธีการเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ร้องกับผู้ถูกกล่าวหา
- ศาลมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยห้ามผู้ถูกกล่าวหาเสพสุราหรือสิ่งมึนเมา ห้ามเข้าใกล้ที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานของผู้ร้อง ห้ามใช้หรือครอบครองทรัพย์สินหรือกระทำการใดที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว โดยคำสั่งดังกล่าวต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และอาจกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับคำปรึกษาแนะนำจากศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำหรือสถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่ศาลกำหนด
- ให้ศาลมีคำสั่งให้นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานอื่นติดตามให้ผู้ถูกกล่าวหาทำตามคำสั่งและรายงานให้ศาลทราบ
- ศาลอาจสั่งให้ผู้ร้องเข้ารับคำปรึกษาแนะนำหรือเข้ารับการอบรมหรือบำบัดรักษาฟื้นฟูจากศูนย์ให้คำปรึกษาหรือสถานพยาบาลหรือหน่วยงานหรือองค์การที่มีหน้าที่คุ้มครองเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือครอบครัว ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
- ให้ศาลแจ้งคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพไปยังเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ผู้ถูกกล่าวหามีถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาทราบ
- หากผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่ง ศาลสามารถออกหมายจับมาขังจนกว่าจะปฏิบัติตาม แต่ไม่เกิน 1 เดือน
- เมื่อผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ร้องได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพครบถ้วนแล้ว คำสั่งดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุด ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ร้องมีสิทธิขอให้- ศาลมีคำสั่งยุติการคุ้มครองสวัสดิภาพก่อนครบกำหนดได้
- ศาลจะกำหนดให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่อีกฝ่ายหนึ่งได้ตามสมควร ในกรณีไม่มีการจดทะเบียนสมรส ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือสมาชิกในครอบครัวได้
แผนผังหารพิจารณาคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ(19)
ข้อควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสวัสดิภาพ
- ในหลายกรณี คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพมักไม่ระบุชัดเจนว่าให้ใครเป็นผู้ติดตามผลการปฏิบัติตามคำสั่ง ดังนั้น ในการยื่นคำร้อง ผู้ร้องจึงควรระบุว่าจะขอให้ใครเป็นผู้ติดตามผลการปฏิบัติ เช่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองในพื้นที่มีการติดตามและรายงานผลการปฏิบัติต่อศาล
- เมื่อศาลออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพแล้ว ให้ผู้เสียหายหรือผู้ร้องขอคัดสำเนาคำสั่งไว้เสมอ เผื่อในกรณีคำสั่งไม่ถูกส่งต่อหรือไม่มีการประสานไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยขอคัดสำเนาได้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ออกคำสั่งนั้น
- ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในคู่รัก มีสาเหตุจากการที่ผู้กระทำต้องการใช้อำนาจกดขี่ควบคุมผู้ถูกกระทำโดยใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ แต่บ่อยครั้งที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมักไม่เข้าใจรากเหง้าของปัญหาความรุนแรง และมองว่าความรุนแรงในครอบครัวหรือความรุนแรงในคู่รักเป็นเพียงการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างคนใกล้ชิด และอาจกล่าวโทษว่าผู้ถูกกระทำมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงและควรปรับปรุงตัวเอง (เช่น บอกให้ผู้ถูกกระทำไม่โต้เถียงหรือพูดจายั่วยุ) และอาจรวมไปถึงการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกกระทำรุนแรงต้องเข้ารับการอบรมหรือบำบัดรักษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ความรุนแรงนั้นเกิดจากตัวผู้กระทำ ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ
- ในหลายกรณี ผู้เสียหายหรือผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจผิดว่าคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพไม่ได้ช่วยผู้เสียหายได้จริง จึงไม่มีประโยชน์ต่อผู้เสียหาย แต่งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การได้มาซึ่งคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ ทำให้เกิดผลดีต่อผู้เสียหายในด้านความปลอดภัยและสวัสดิภาพในระยะยาว โดยผู้เสียหายที่ได้รับคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเผชิญความรุนแรงทางร่ายกายลดลงร้อยละ 80 ในช่วงเวลา 1 ปีหลังจากที่มีการร้องทุกข์ครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้เสียหายได้รับคำสั่งคุ้มครองแบบชั่วคราวเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ผลการศึกษาไม่ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบด้านบวกดังเช่นกรณีข้างต้น(20)
(16) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, มาตรา 10.
(17) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, มาตรา 11.
(18) ข้อ 7. ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ พ.ศ. 2554 และ มาตรา 172 พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553.
(19) เรียบเรียงจาก กลุ่มงานบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์, คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ, ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรี.
(20) Judith A. Wolfer (2009). Top ten Myths About Domestic Violence. In Kelly Weisberg. Modern Family Law: Cases and Materials.
ยินดีด้วย คุณจบโมดูล 3: การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว แล้ว
โมดูลต่อไป >ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี