< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่

โมดูลที่ 5 - สิทธิการเยียวยา

บทเรียนที่ 2 - กองทุนยุติธรรม


“กองทุนยุติธรรม” คือ กองทุนช่วยเหลือโจทก์และจำเลย เพื่อนำเงินมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม เช่น เงินค่าประกันตัว ค่าจ้างทนายความ สำหรับโจทก์และจำเลยที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 มาตรา 5 ซึ่งเป็นกองทุนหนึ่งในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และมีฐานะเป็นนิติบุคคล

กองทุนยุติธรรมให้ความช่วยเหลือดังต่อไปนี้

  • การให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี เช่น ค่าจ้างทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น ค่าใช้จ่ายในการประกันตัว เป็นต้น
  • การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ค่าขาดรายได้ ค่าเสียหายจากการถูกละเมิด เป็นต้น
  • การสนับสนุนโครงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการ ให้ความรู้กฎหมายแก่ประชาชน เป็นต้น

กองทุนยุติธรรมให้ความช่วยเหลือคดีประเภทใดบ้าง

คดีที่กองทุนยุติธรรมให้ความช่วยเหลือ คือ คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีเยาวชนและครอบครัว คดีศาลชำนัญพิเศษ และคดีอื่น รวมถึงการบังคับคดี(35)

การขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

กรณีผู้ขอรับความช่วยเหลืออยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่ “สำนักงานกองทุนยุติธรรม” ในกรณีจังหวัดอื่น ๆ ขอรับความช่วยเหลือได้ที่ “สำนักงานยุติธรรมจังหวัด” ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด

ขั้นตอนการขอรับบริการกองทุนยุติธรรม

  1. ขอรับบริการที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือสำนักงานกองทุนยุติธรรม โดยดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
    • ยื่นคำขอด้วยตนเอง
    • ยื่นคำขอเเทน เช่น สามีภริยาที่จดทะเบียนสมรส ผู้เเทนโดยชอบธรรม
    • มอบอำนาจ ให้ยื่นคำขอเเทน
  2. อธิบายปัญหา ข้อเท็จจริง พร้อมนำหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในการใช้ความช่วยเหลือ
  3. เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาปัญหาข้อพิพาท กฎหมาย การดำเนินคดี และสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย
  4. เจ้าหน้าที่กลั่นกรองคำขอรับความช่วยเหลือเพื่อส่งต่อหน่วยงานที่ที่เกี่ยวข้อง และมอบเจ้าหน้าที่กองทุนยุติธรรมดำเนินการ
  5. เจ้าหน้าที่กองทุนยุติธรรมดำเนินการเสาะหาข้อเท็จจริง รวบรวมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม เช่น สอบปากคำ ลงพื้นที่ ตรวจสอบความประพฤติ
  6. คณะกรรมการหรือประธานพิจารณาคำขอ และเเจ้งผลให้ผู้ขอรับความช่วยเหลือทราบภายใน 7 วันหลังจากพิจารณา(36)

(35) กระทรวงยุติธรรม (2564). กองทุนยุติธรรม คำถามและคำตอบงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย (Legal Aid) ด้วยบริการกองทุนยุติธรรม.

(36) กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย. สรุปสาระสำคัญ พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558. สำนักกฎหมาย. วุฒิสภา. สำนักงานกิจการยุติธรรม (2560). กองทุนยุติธรรม. กระทรวงยุติธรรม. 18 กรกฎาคม.



ยินดีด้วย คุณจบโมดูล 5: สิทธิการเยียวยา แล้ว โมดูลนี้เป็นโมดูลสุดท้ายของคอร์สนี้

กลับหน้าหลัก


สารบัญ

การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี กระบวนการดำเนินคดีอาญาเบื้องต้น การเตรียมหลักฐานเมื่อจะไปแจ้งความร้องทุกข์ กระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ สิทธิในการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา สิทธิของผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน การส่งสำนวนฟ้องให้อัยการ ขั้นตอนการฟ้องคดีต่อศาล การไกล่เกลี่ย การตั้งผู้ประนีประนอม สิทธิการเยียวยา สิทธิการได้รับการเยียวยาคืออะไร กองทุนยุติธรรม