คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่
โมดูลที่ 4 - ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี
บทเรียนที่ 6 - หน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน
กรณีความผิดเกี่ยวกับเพศ
ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ในการถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน ในกรณีที่สถานีตำรวจในพื้นที่ไม่มีพนักงานสอบสวนหญิง สามารถทำหนังสือร้องขอจากสถานีตำรวจอื่นได้ นอกจากนี้ ผู้เสียหายมีสิทธิขอให้มีบุคคลอื่นอยู่ด้วยในระหว่างสอบสวน
กรณีที่ผู้เสียหายหรือพยานเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติดังนี้
- แยกถามปากคำเด็กเป็นสัดส่วนในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก
- จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในระหว่างถามปากคำ
- ในกรณีที่คำถามของพนักงานสอบสวนอาจสร้างผลกระทบต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ โดยไม่ให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนโดยตรง
- ห้ามถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุจำเป็น
- ให้พนักกงานสอบสวนบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำไว้เป็นพยาน
ข้อสังเกต :
ในทางปฏิบัติบางกรณี บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะผู้มีที่หน้าที่รับแจ้งความร้องทุกข์หรือสอบสวน อาจตั้งคำถามกับผู้เสียหายว่า “ต้องการแจ้งความข้อหาอะไร?” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหาหรือกำหนดฐานความผิดตามกฎหมาย คือตำรวจและอัยการ ดังนั้น ผู้เสียหายสามารถเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วให้ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายเป็นฝ่ายระบุว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์นั้น ๆ เป็นความผิดต่อตัวบทกฎหมายใด
กรณีความรุนแรงในครอบครัว
ในคดีความรุนแรงในครอบครัว พนักงานสอบสวนต้องทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานโดยเร็ว และติดตามจับกุมและส่งตัวผู้กระทำผิด สำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นไปยังอัยการเพื่อสั่งฟ้องคดีต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมงหลังได้ตัวผู้กระทำผิด แต่หากมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในเวลาที่กำหนด อาจขอผัดฟ้องต่อศาลได้คราวละไม่เกิน 6 วัน และไม่เกิน 3 คราว
ขณะสอบปากคำผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำร้องขอร่วมอยู่ด้วย และในกรณีที่ผู้ให้ปากคำเป็นเด็ก ต้องมีพนักงานอัยการอยู่ด้วย ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนและมีเหตุอันควรให้ไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวได้ พนักงานสอบสวนต้องบันทึกเหตุที่ทำให้ไม่อาจรอได้ไว้ในสำนวนการสอบสวน
การรับคําร้องทุกข์
เนื่องจากความผิดฐานกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอันยอมความได้ การดำเนินคดีดังกล่าวจึงจะต้องมีการ “ร้องทุกข์” เสียก่อน และต้องเป็นการร้องทุกข์โดย “ผู้เสียหาย” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ยังให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการร้องทุกข์แทน ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำไม่อยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง (มาตรา 6)
ดังนั้น บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ในทางกลับกัน พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รับคำร้องทุกข์ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวจากบุคคลเพียง 2 ประเภท ได้แก่ ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และพนักงานเจ้าหน้าที่
แต่ทั้งนี้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวระบุว่า ผู้อื่นที่พบเห็นหรือทราบเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว แม้ไม่สามารถร้องทุกข์เพื่อการดำเนินคดีแทน แต่ก็ “มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และการแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เมื่อได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง (มาตรา 5)
(28)
(28) เรียบเรียงจาก ข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว