< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่

โมดูลที่ 4 - ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี

บทเรียนที่ 8 - ขั้นตอนการฟ้องคดีต่อศาล


ศาลที่มีอำนาจในการพิพากษาคดีความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 คือศาลเยาวชนและครอบครัว แต่หากความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามกฎหมายอื่นที่มีโทษสูงกว่า ให้ดำเนินคดีต่อศาลอื่นที่มีอำนาจพิจารณาความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น โดยให้นำบทบัญญัติทั้งหลายใน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เช่น การออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่ผู้ถูกกระทำ หรือการร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำ ไปบังคับใช้โดยอนุโลม

ทั้งนี้ เว้นแต่ความผิดตามกฎหมายอื่นที่มีโทษสูงกว่านั้น เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 296, 297 จะไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอื่น แต่เป็นความผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 จึงยังคงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ตามนัยคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่ 25/2563 ที่ 25/2564 และ ที่ 109/2564

คำสั่งศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดี

ในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี ศาลมีอำนาจออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์หรือออกคำสั่งใด ๆ ได้เท่าที่จำเป็นและสมควร เช่น

  • ให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์
  • ให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เบื้องต้นตาม สมควรแก่ฐานะ
  • ห้ามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้าไปในที่พำนักของครอบครัวหรือเข้าใกล้ตัวบุคคลใดในครอบครัว
  • กำหนดวิธีการดูแลบุตร

ในกรณีที่เหตุการณ์หรือพฤติการณ์เกี่ยวกับผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง หรือเพิกถอนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ หรือคำสั่งใด ๆ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมก็ได้

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท

การยอมความ ถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้อง ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว

ในกรณีที่มีการยอมความ การถอนคำร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้องในความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณีดำเนินการดังนี้

  • จัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นก่อนการยอมความ การถอนคำร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้อง
  • กำหนดให้นำวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีเป็นเงื่อนไขในการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวโดยอนุโลม โดยอาจรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหายหรือบุคคลในครอบครัวประกอบด้วยก็ได้
  • หากได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวครบถ้วนแล้วจึงให้มีการยอมความ การถอนคำร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้องได้ หากผู้ต้องหาหรือจำเลยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นดำเนินการต่อไป

พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มีการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดควบคู่ไปกับมาตราการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ตั้งแต่เริ่มต้นที่มีการแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณา จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษา

แม้ศาลเยาวชนและครอบครัวจะมีอำนาจในการสั่งระงับยับยั้งการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีครอบครัว พ.ศ. 2553 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และพ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ 2546 แต่ยังคงมีข้อท้าทายหลายประการ ทั้งเรื่องการประชาสัมพันธ์ข้อมูล และข้อท้าทายในส่วนของผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวที่บางส่วนยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจึงควรมีองค์ความรู้พื้นฐานในส่วนนี้ไว้ เพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่ผู้เสียหายได้(30)


(30) สมบัติ พฤฒิพงศภัค. (2561). คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ. วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ปีที่11 ฉบับที่ 2.




สารบัญ

การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามกฎหมาย บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี กระบวนการดำเนินคดีอาญาเบื้องต้น การเตรียมหลักฐานเมื่อจะไปแจ้งความร้องทุกข์ กระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ สิทธิในการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา สิทธิของผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน การส่งสำนวนฟ้องให้อัยการ ขั้นตอนการฟ้องคดีต่อศาล การไกล่เกลี่ย การตั้งผู้ประนีประนอม สิทธิการเยียวยา สิทธิการได้รับการเยียวยาคืออะไร กองทุนยุติธรรม