คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่
โมดูลที่ 4 - ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี
บทเรียนที่ 5 - สิทธิของผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ
1.ผู้เสียหายที่เป็นหญิงมีสิทธิได้รับการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่เป็นหญิง
มาตรา 133 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุว่า “...ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน เว้นแต่ผู้เสียหายนั้นยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น และให้บันทึกความยินยอมหรือเหตุจำเป็นนั้นไว้ ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะขอให้บุคคลใดอยู่ร่วมในการถามปากคำนั้นด้วยก็ได้
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานยืนยันตัวผู้กระทำความผิดในชั้นจับกุมหรือชี้ตัวผู้ต้องหาในคดีอาญา ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนจัดให้มีการยืนยันตัวผู้กระทำความผิดหรือชี้ตัวผู้ต้องหาในสถานที่ที่เหมาะสม และสามารถจะป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องหาเห็นตัวผู้เสียหายหรือพยาน โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เสียหายหรือพยานเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งกรณี เว้นแต่ผู้เสียหายหรือพยานนั้นยินยอม และให้บันทึกความยินยอมนั้นไว้…”
2.ผู้เสียหายมีสิทธิไม่ถูกถามด้วยคำถามอันเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของผู้เสียหายกับบุคคลอื่นนอกจากจำเลย อย่างไรก็ตาม ศาลอาจจะอนุญาตให้ทำได้ในกรณีที่ศาลเห็นว่าจะก่อให้เกิดความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี(27)
นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ยังระบุให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ เพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ ทั้งนี้ ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน หรือในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี โดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ต้องการเรียกร้อง
(27) มาตรา 226/4. พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2551.