คอร์ส การดําเนินงานทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในชีวิตคู่
โมดูลที่ 4 - ข้อควรรู้ทางกฎหมายหากผู้เสียหายต้องการดำเนินคดี
บทเรียนที่ 3 - กระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ
การแจ้งความหรือร้องทุกข์ถือเป็นสิทธิของผู้เสียหายที่จะไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งการร้องทุกข์เปรียบเสมือนการไปแจ้งความประสงค์ว่าตนต้องการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินคดีอาญา ซึ่งกรณีความรุนแรงในครอบครัวหรือความรุนแรงระหว่างคู่รักที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินกันฉันสามีภริยา ถือเป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวที่ต้องให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ก่อนตำรวจจึงจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ (ตามกฎหมายปัจจุบัน) หากผู้เสียหายเลือกที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเมื่อได้เตรียมตัวพร้อมแล้ว เมื่อไปร้องทุกข์ ควรแจ้งให้ชัดเจนว่าต้องการแจ้งความดำเนินคดี
“คำร้องทุกข์” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น โดยกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ไม่ว่าจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 “พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ”(25)
มักมีการเข้าใจผิดว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานนั้นเพียงพอแล้ว แต่การลงบันทึกประจำวันไม่มีผลเป็นการเริ่มคดี หากต้องการดำเนินคดี ผู้เสียหายจะต้องแจ้งความประสงค์การแจ้งความร้องทุกข์และประสงค์ให้ดำเนินคดี ไม่ใช่เพียงการลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานเท่านั้น(26)
(25) ชวลิต ณ นคร (2564). สิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา
(26) มัจฉา, สุพจน์ (2558). เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับตำรวจ ตอน : "สมุดประจำวัน”, สืบค้นจาก: http://supote2503.blogspot.com/2015/09/blog-post_620.html