คอร์ส แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว
โมดูลที่ 1 - สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
บทเรียนที่ 1 - สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
ผู้เสียหายกรณีความรุนแรงในครอบครัว นอกจากได้รับบาดแผลทางร่างกาย ยังมีบาดแผลทางจิตใจที่มองไม่เห็น บางรายถูกกระทำเป็นระยะเวลานาน บางรายอาจอยู่ในความรุนแรงเพียงไม่กี่เดือน แต่ก็ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงเนื่องจากการใช้ชีวิตอยู่กับความรุนแรงตลอดเวลาทำให้สภาพจิตใจเกิดความเสียหาย ต้องอยู่ในสภาวะคิดทบทวนอยู่เสมอว่าหากมีความตึงเครียดหรือความรุนแรงเกิดขึ้น จะรับมืออย่างไรเพื่อให้ตัวเองปลอดภัย
สภาพจิตใจมีผลกับร่างกาย ผู้เสียหายอาจมีพฤติกรรมบางอย่างโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลของการที่ต้องคอยเอาตัวรอดจากสถานการณ์อันตรายที่เกิดขึ้นในครอบครัว เช่น การก้มตัวหลบโดยทันทีเมื่อมีคนยกมือขึ้น การจำเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เสียหายอาจรู้สึกกลัวและคิดว่าไม่มีใครที่เชื่อใจได้ รู้สึกเศร้า ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น หรือผู้เสียหายอาจรู้สึกชินชาและไม่มีการแสดงออกทางอารมณ์มากนัก ในบางกรณีอาจเกิดความผิดปกติทางอารมณ์และปัญหาด้านสุขภาพจิตต่างๆ
สภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ถูกกระทำความรุนแรง ตัวอย่างเช่น
- จำรายละเอียดบางอย่างของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้เสียหายโกหก หรือตั้งใจไม่บอกข้อเท็จจริงบางอย่าง และผู้เสียหายอาจค่อย ๆ เรียกความทรงจำกลับมาได้มากขึ้น หลังจากได้ใช้เวลาประมวลผลเหตุการณ์นั้น
- แม้จะจำเหตุการณ์ได้ แต่ความทรงจำของผู้เสียหายมักไม่สมบูรณ์และมีช่องว่าง โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ ๆ การปะติดปะต่อเหตุการณ์เป็นลำดับอาจไม่ชัดเจนในครั้งแรกที่เล่าเรื่อง
- จำเหตุการณ์ที่รุนแรงมากบางเหตุการณ์แทบไม่ได้เลย หรือเล่าว่า “ภาพตัดไป”
- คิดไปว่าการที่ตนเองไม่ได้พูดปฏิเสธหรือต่อสู้ขัดขืนอย่างชัดเจนเมื่อเกิดเหตุความรุนแรง เท่ากับว่าตนเองยินยอม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สภาวะทางจิตใจของผู้เสียหายในขณะนั้นไม่อยู่ในสภาวะที่กล้าจะสื่อสารความต้องการของตนหรือสู้กลับ
- มีภาวะมึนชาเวลาเล่าเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเล่ารายละเอียดต่างๆ เหมือนคนที่ไร้อารมณ์ความรู้สึก
- มีอารมณ์ความรู้สึกท่วมท้น ตัวสั่น ร้องไห้ ไม่สามารถเล่าเรื่องได้จนจบ
สภาวะบางอย่างของผู้เสียหายอาจเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานคาดเดาได้ หรือมีภาพจำเกี่ยวกับพฤติกรรมเหล่านั้นอยู่แล้ว เช่น การร้องไห้ หรือมีภาวะเศร้าหมอง เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงพฤติกรรมอย่างอื่น เช่น การไม่กล้าปฏิเสธ การพยายามทำดีกับผู้กระทำเพื่อเอาตัวรอดจากความรุนแรง การเล่าเรื่องแบบไม่ปะติดปะต่อ การแสดงออกอย่างไร้อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงความก้าวร้าว ก็เป็นสภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ปฏิบัติงานจึงควรทำความเข้าใจสภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทางร่างกาย และพฤติกรรมการแสดงออกที่เป็นผลจากความรุนแรง เพื่อจะได้วางแผนการดูแลผู้เสียหายอย่างระมัดระวัง ไม่ก่อให้เกิดอันตรายทางจิตใจซ้ำ หรือมีการแสดงออกในลักษณะที่เหมือนเป็นการกล่าวโทษผู้เสียหาย ทั้งนี้ โดยคำนึงว่าสภาวะ และพฤติกรรมการแสดงออกที่เป็นผลจากการถูกกระทำรุนแรงอาจมีความแตกต่างกันไปในผู้เสียหายแต่ละคน