< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 4 - การวางแผนความปลอดภัย

บทเรียนที่ 1 - การวางแผนเพื่อความปลอดภัย


การวางแผนเพื่อความปลอดภัย

การวางแผนเพื่อความปลอดภัย หรือ Safety Plan คือ การร่วมกันวางแผนกับผู้เสียหายหลังจากได้พูดคุย รับฟัง และประเมินในเบื้องต้นแล้วพบว่าผู้เสียหายอาจตกอยู่ในอันตรายได้ในอนาคต ผู้เสียหายอาจจำเป็นต้องคิดหาวิธีรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้น การวางแผนเพื่อความปลอดภัยช่วยให้ผู้เสียหายสามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต การวางแผนเพื่อความปลอดภัยสามารถช่วยลดอันตรายจากผู้ใช้ความรุนแรงให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการหาทรัพยาการสำหรับการหลีกเลี่ยงอันตรายและสถานที่ปลอดภัยที่ผู้เสียหายสามารถไปพักพิงชั่วคราวได้ บ่อยครั้งที่ผู้เสียหายมีบางกลยุทธ์เพื่อความปลอดภัยพร้อมใช้อยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือการหาวิธีที่ได้ผลสำหรับผู้เสียหายแล้วต่อยอดจากสิ่งนั้น

เราสามารถใช้คำถามต่อไปนี้ในการจัดทำแผนเพื่อความปลอดภัยร่วมกับผู้เสียหาย:

1. ระบุการแก้ไขปัญหาที่ผู้เสียหายใช้อยู่แล้ว

  • คุณทำอะไรบ้างเมื่อตกอยู่ในอันตราย - หารือกับผู้เสียหายว่าวิธีการแก้ไขปัญหานั้นได้ผลหรือไม่ อย่างไร

2. ระบุทรัพยากรที่ผู้เสียหายมีอยู่ (คน เงิน วัสดุอุปกรณ์)

  • คุณพอจะหนีไปไหนได้บ้าง – ช่วยผู้เสียหายในการคิดหาสถานที่ปลอดภัยอย่างน้อยหนึ่งที่ที่ผู้เสียหายสามารถไปได้ทันทีในกรณีฉุกเฉิน ผู้เสียหายควรเตรียมสถานที่เอาไว้ล่วงหน้า
  • คุณเชื่อใจใครบ้าง - พยายามคิดถึงใครสักคน (เพื่อนบ้าน เพื่อน คนในครอบครัว องค์กร) ที่ผู้เสียหายเชื่อใจ และชวนพูดคุยเกี่ยวกับวิธีการส่งสัญญาณหาเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือได้ เพื่อให้เพื่อนบ้านยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเมื่อได้เห็นสัญญาณนั้น
  • คุณมีทรัพยากรทางการเงินอยู่ที่ใดบ้าง – ผู้เสียหายสามารถเก็บซ่อนเงินจากผู้ใช้ความรุนแรง หรือเก็บในที่ปลอดภัยที่จัดไว้ได้หรือไม่
  • คุณมีทรัพยากรด้านวัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง - มีวัสดุอุปกรณ์ชิ้นใดบ้างที่สามารถนำออกห่างจากผู้ใช้ความรุนแรงได้ มีชิ้นใดบางที่สามารถนำมาใช้ช่วยเหลือผู้เสียหายในกรณีที่ต้องการรายได้

3. คิดหากลยุทธ์เพื่อความปลอดภัยที่อาจได้ใช้ในอนาคต

  • มีใครบ้างที่รู้เกี่ยวกับความรุนแรงของคู่รัก/สามีของคุณ - บุคคลที่ผู้เสียหายพอจะขอความช่วยเหลือได้
  • มีใครบ้างที่สามารถคุยกับผู้กระทำความรุนแรงในขณะที่ไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เขาใช้ความรุนแรงอีก - อาจมีคนที่ผู้กระทำความรุนแรงให้ความเคารพนับถือที่พอจะทำให้เขาหยุดใช้ความรุนแรงได้ แม้จะเป็นการชั่วคราว แต่ก็อาจช่วยให้ผู้เสียหายได้ต่อเวลาที่ไม่ต้องประสบความรุนแรงออกไปได้บ้าง
  • หน่วยงานหรือตำรวจท้องถิ่นใดที่คุณอาจติดต่อได้ และในกรณีใดบ้างที่คุณจะติดต่อพวกเขา - ถามผู้เสียหายว่าสถานการณ์แบบไหนหรือความรุนแรงระดับใด ที่จะทำให้ผู้เสียหายตัดสินใจแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • คุณจะช่วยเหลือบุตรของคุณอย่างไร - ในกรณีที่ผู้เสียหายมีบุตร บุตรของผู้เสียหายทำอย่างไรเมื่อพวกเขาและผู้เสียหายตกอยู่ในอันตราย ผู้เสียหายจะช่วยบุตรด้วยกลยุทธ์เพื่อความปลอดภัยได้อย่างไร

4. หารือกับผู้เสียหายว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าจำเป็น/ตัดสินใจหนี

  • ถ้าต้องหนี คุณจะเอาอะไรติดตัวไปด้วย - เอกสารสำคัญ เช่น เอกสารแสดงตัวตนสำหรับผู้เสียหายและบุตร เสื้อผ้า และเงิน
  • ถ้าต้องหนี จะเกิดอะไรขึ้นกับบุตรของคุณ - ถ้าผู้เสียหายมีบุตร บทบาทของบุตรในการหนีคืออะไร ผู้เสียหายเกือบทุกกรณีจะพาบุตรของตนหนีไปด้วย ผู้เสียหายจึงควรต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของบุตร และประเมินว่าบุตรของตนสามารถแบกรับสถานการณ์ได้มากเพียงใด ถ้าบุตรจะไม่ไปด้วย การจัดการเพื่อการดูแลคืออะไร
  • ใครจะตกอยู่ในอันตรายบ้างถ้าต้องหนี - พิจารณาว่าผู้ใช้ความรุนแรงจะเอาความรุนแรงนั้นไปลงที่ผู้อื่นหลังจากที่ผู้เสียหายหนีไปหรือไม่

ในขณะที่ผู้เสียหายเริ่มให้คำตอบเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและทรัพยากรที่เป็นไปได้ ให้ช่วยผู้เสียหายวางแผนการปฏิบัติตนเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย หลังจากที่ผู้เสียหายระบุการแก้ไขปัญหาและทรัพยากรแล้ว เราสามารถเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับการนำแผนเหล่านั้นมาปรับใช้กับสถานการณ์อันตรายอย่างเหมาะสม บ่อยครั้งที่ผู้เสียหายจะมีแผนในระดับกลาง (Moderate plan) สำหรับสถานการณ์ที่อันตรายน้อยลงมาและแผนสำหรับสถานการณ์ที่อันตรายต่อชีวิต(11) ข้อเท็จจริงที่สำคัญคือ ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้เสียหายจากความรุนแรงระหว่างคู่รักคือช่วงเวลาที่กำลังหนี การมีแผนเอาไว้สำหรับขณะกำลังหนี การมีจุดหมายปลายทาง และการมีคนคอยช่วยเหลือจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด

เทคนิคอย่างสั้นในการประเมินและวางแผนเพื่อความปลอดภัยของผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว:

  • เข้าใจมุมมองด้านความปลอดภัยของผู้เสียหายในบ้านของเขา
  • เจาะจงสถานการณ์ที่ผู้เสียหาย (และบุตร ในกรณีที่บุตรเกี่ยวข้องด้วย) ตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงที่สุด
  • ระบุข้อบ่งชี้ที่แสดงถึงแนวโน้มว่าความรุนแรงจะรุนแรงมากขึ้นจนเป็นอันตรายอย่างยิ่ง หรืออาจจะทำให้เกิดการทำร้ายร่างกาย การกระทำความรุนแรงทางเพศ หรือความรุนแรงอื่นๆ ที่เป็นความเสี่ยงสูง
  • หากลยุทธ์และทรัพยากรที่ผู้เสียหายมีอยู่แล้ว และวางแผนเพื่อความปลอดภัยที่สอดคล้องกับทรัพยากรเหล่านั้น
  • ช่วยผู้เสียหายคิดหากลยุทธ์เพื่อให้แผนนั้นครอบคลุมไปถึงบุตรของผู้เสียหาย ในกรณีที่บุตรเกี่ยวข้องด้วย

ข้อควรคำนึงถึงสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ในการวางแผนเพื่อความปลอดภัยร่วมกับผู้เสียหาย:

  • ไม่ควรคิดแทนหรือกดดันให้ผู้เสียหายพยายามทำตามคำแนะนำของตน
  • ควรสอบถามถึงภาระห่วงใยของผู้เสียหายก่อนเสมอ เช่น สัตว์เลี้ยง คนพิการ พ่อแม่ของผู้เสียหาย บุตร เพราะบุคคลเหล่านั้นอาจตกอยู่ในอันตรายได้หากผู้เสียหายหนีออกมาโดยไม่มีการวางแผน
  • ควรให้ผู้เสียหายประเมินเองก่อน และรับฟังก่อน
  • ไม่มีแผนการความปลอดภัยใดสำเร็จรูปและใช้ได้เลย แผนการควรเป็นจริง ทำได้จริงจากทรัพยากรที่ผู้เสียหายมีอยู่แล้ว

(11) GBVIMS (2017). Interagency gender-based violence case management guidelines: providing care and case management services to gender-based violence survivors in humanitarian settings. 1st edition.




สารบัญ

แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ผลกระทบของความรุนแรงต่อสมองของผู้เสียหาย สมองในขณะถูกกระทำความรุนแรง สภาวะทางสุขภาพจิตอื่นๆ การดูแลสุขภาพจิตใจในสภาวะฉุกเฉิน การฟัง เตรียมตัวก่อนการรับฟัง การรับฟัง การสะท้อนความรู้สึก Reflection of feelings การบอกจุดแข็งและข้อจำกัด เทคนิคการฟังอย่างง่าย ทบทวนหลักการรับฟัง การประเมินความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงคืออะไร การประเมินความเสี่ยงในกรณีความรุนแรงในครอบครัว การประเมินความเสี่ยงในกรณีความรุนแรงในครอบครัว การระบุสถานการณ์ที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้เสียหาย การวางแผนความปลอดภัย การวางแผนเพื่อความปลอดภัย เครื่องมืออื่น ๆ ในการแสวงหาข้อมูลประกอบการวางแผนช่วยเหลือผู้เสียหาย การแสวงหาข้อเท็จจริง/การสืบค้นข้อเท็จจริง (Fact finding) การทำแผนผังครอบครัว และแผนผังนิเวศน์ ลำดับเหตุการณ์ในชีวิต สรุปแนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว