คอร์ส แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว
โมดูลที่ 1 - สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
บทเรียนที่ 2 - ผลกระทบของความรุนแรงต่อสมองของผู้เสียหาย
สมองของมนุษย์พัฒนาจากส่วนล่างขึ้นบนตามช่วงวัย โดยในช่วงวัยรุ่น สมองส่วนอารมณ์จะมีพัฒนาการและทำงานมาก สมองส่วนหน้าซึ่งมีหน้าที่คิดวิเคราะห์ตามหลักเหตุและผลจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่(1) การทำงานกับผู้เสียหายที่เป็นเด็กหรือเยาวชนจึงต้องอาศัยทักษะความชำนาญสูงกว่าการทำงานกับผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ทั้งการรับฟัง การสอบปากคำ และการฟื้นฟูอำนาจภายใน (Empowerment) เพื่อให้ผู้เสียหายที่เป็นเด็กหรือเยาวชนสามารถค่อย ๆ คิดพิจารณาถึงความต้องการของตนและสื่อสารออกมาได้ การทำงานกับเด็กหรือเยาวชนจึงควรให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์
ในกรณีผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งเพิ่งผ่านประสบการณ์ความรุนแรง ผู้เสียหายอาจยังอยู่ในสภาวะที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความหวาดกลัว ความวิตกกังวล ส่งผลให้ระบบลิมบิก (Limbic system หรือสมองส่วนอารมณ์/ระบบประสาทส่วนกลาง) ของผู้เสียหายต้องทำงานหนัก การทำงานหนักของระบบลิมบิกทำให้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการสื่อสารลดลง และอาจทำให้เกิดสภาวะ “คิดไม่ออก” หรือหาทางออกไม่ได้ เนื่องจากสมองส่วนหน้ายังไม่สามารถทำการคิดวิเคราะห์ตามหลักเหตุและผลได้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลาดังกล่าว(2)
การตกอยู่ในภาวะอารมณ์ที่ท่วมท้นจึงอาจทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถสื่อสารออกมาได้อย่างชัดเจน พูดไม่ปะติดปะต่อ ยกตัวอย่างในสถานการณ์ทั่วไป เช่น เมื่อโมโหคนจะคิดระวังคำพูดของตนได้ไม่รอบคอบเท่าตอนที่ได้สงบสติอารมณ์ลงแล้ว เมื่อมีความเศร้า ความกลัว ความวิตกกังวลก็เช่นกัน สภาวะอารมณ์ที่มากล้นเกินจนคิดวิเคราะห์ได้ยากอาจเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์ ทั้งตอนถูกกระทำความรุนแรง ตอนเห็นหน้าผู้กระทำความรุนแรงในศาล หรือตอนถูกถามซ้ำ ๆ เกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น
การยึดหลักแนวทางการให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง จึงต้องเริ่มด้วย การรับฟัง การรับฟังเป็นการช่วยให้อารมณ์ที่ล้นเกินอยู่นั้นค่อย ๆ ถูกเรียบเรียงและสื่อสารออกมา เป็นการช่วยดูแลสมองส่วนกลางที่กำลังเต็มไปด้วยอารมณ์และสับสน และผู้ปฏิบัติงานยังช่วยคลี่คลายปมของเรื่องราวและความรู้สึกที่สับสนได้ด้วยการช่วยนิยามความรู้สึกของผู้เสียหาย ช่วยสรุปและสะท้อนเรื่องราวที่ปะปนกันในสมองให้เป็นระเบียบ รวมทั้งช่วยชี้ถึงอำนาจภายในหรือพลังเชิงบวกของผู้เสียหาย ช่วยให้ผู้เสียหายเข้าใจข้อจำกัด เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน และเมื่อสมองส่วนกลางได้รับการคลี่คลายแล้ว สมองส่วนหน้าจะเริ่มทำงานและสามารถคิดวางแผนและลำดับความต้องการของตนเอง เพื่อรับมือกับสถานการณ์อย่างมีเหตุมีผลได้
หากผู้ปฏิบัติงานใช้วิธีการชี้นำ สั่ง หรือใช้อำนาจเหนือ อาจทำให้ผู้เสียหายหวนคิดและรู้สึกเหมือนกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตนเองเคยถูกกระทำความรุนแรง การคำนึงถึงวิธีการใช้อำนาจร่วมอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องจำเป็น และจะทำให้ผู้เสียหายรู้สึกปลอดภัยและสามารถทบทวนความต้องการของตนได้อย่างสงบ
(1) อ้างอิง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คัคนางค์ มณีศรี, 2559, พิมพ์ครั้งที่ 4, จิตวิทยาทั่วไป, บริษัทปัญญมิตรการพิมพ์จำกัด, หน้า 24. รองศาสตราจารย์ ร้อยโท ฐิรชัย หงษ์ยันตรชัย, 2563, พิมพ์ครั้งที่ 2, ร่างกายและจิตใจ, จิตวิทยาเบื้องต้น หน้า 33-72, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, หน้า 54.
(2) Bessel Van Der Kolk, 2015, The Body Keeps The Score: Mind, Brain, Body in the Transformation of Trauma, Penguin Random House UK, P 51-87.