คอร์ส แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว
โมดูลที่ 3 - การประเมินความเสี่ยง
บทเรียนที่ 1 - การประเมินความเสี่ยงคืออะไร
การประเมินความเสี่ยงคืออะไร
การประเมินความเสี่ยง(10) (Risk Assessment) หมายถึงการสำรวจและประเมินข้อบ่งชี้ที่แสดงว่าผู้ใช้บริการเช่น ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ หรือบุคคลในครอบครัว อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากความรุนแรงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะส่งผลต่อการวางแผนการทำงาน ว่าผู้เสียหายควรได้รับบริการอย่างเร่งด่วนโดยทีมสหวิชาชีพตามกฎหมาย หรือยังสามารถรอได้โดยมีการเฝ้าระวังในชุมชน เป็นต้น ซึ่งสามารถประเมินจากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในครอบครัว หรือในพฤติกรรมส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ และประเมินว่าความเสี่ยงดังกล่าวมีผลอย่างไรต่อผู้ใช้บริการ
ในการกำหนดแนวทางป้องกันความเสี่ยงซ้ำและความเสี่ยงใหม่ เพื่อนำไปสู่การวางแผนป้องกัน การเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการทำร้ายผู้ใช้บริการซ้ำ อาจพิจารณาถึงสาระสำคัญในพระราชบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบในการป้องกันปัญหาได้ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฏหมายต่างๆ ได้ในบทเรียนที่ 5)
ในการประเมินความเสี่ยง สามารถแบ่งได้เป็นการประเมินความเสี่ยงของความรุนแรงทางกาย จิตใจ เพศ และการละเลยทอดทิ้ง และการประเมินความเสี่ยงผ่านมุมมองเฉพาะของกรณีความรุนแรงในครอบครัว
การประเมินความเสี่ยงความรุนแรงทางกายภาพ ความรุนแรงต่อจิตใจ ความรุนแรงทางเพศ และการละเลยทอดทิ้งหรือการใช้อำนาจเหนือในรูปแบบอื่น ๆ สามารถทำได้ดังภาพ
(10) เรียบเรียงจากเนื้อหาการอบรม “การจัดการรายกรณีปัญหาความรุนแรงบนฐานเพศ”. โสภา อ่อนโอภาส วิทยากร. ปี 2564.