< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 1 - สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น

บทเรียนที่ 4 - สภาวะทางสุขภาพจิตอื่นๆ


สภาวะทางสุขภาพจิตอื่นๆ(4)

ภาวะเครียดหลังประสบเหตุการณ์รุนแรง Post Traumatic Stress Disorder (PTSD)

ภาวะความเครียดหลังประสบเหตุการณ์รุนแรง (Post Traumatic Stress Disorder - PTSD) มีอยู่ 3 ภาวะหลัก ๆ คือ หลอน เร้า และหลบเลี่ยง

  • อาการหลอน คือการนึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำ ๆ เสมือนหนึ่งเหตุการณ์นั้นยังเกิดขึ้นอยู่ ร่างกายยังไม่สามารถตระหนักรู้ได้ว่าความรุนแรงนั้นจบลงแล้ว อาจมีอาการฝันร้ายซ้ำ ๆ หรือเกิดการนึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเห็นหรือได้รับสิ่งเร้าที่เชื่อมโยงกับอดีต
  • อาการเร้า อาจแสดงออกมาในลักษณะของความหวาดระแวง ตื่นตกใจง่าย มีปัญหาในการนอนหลับ ขาดสมาธิ ไปจนถึงอาการหงุดหงิดก้าวร้าว
  • อาการหลบ คือการพยายามหลบเลี่ยงสิ่งเร้าใด ๆ ที่ทำให้รำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต หลีกเลี่ยงความคิด อารมณ์ การรับรู้ทางกาย สถานที่ วัตถุ ผู้คน หรือบทสนทนาใด ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์รุนแรง

บาดแผลทางใจ หรือ ทรอม่า (Truama)

การมีบาดแผลทางใจ หรือมีทรอม่านั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ คนที่เคยผ่านประสบการณ์ความรุนแรง(5) เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซึ่งส่งผลให้สมองถูกกระตุ้นเพื่อเอาชีวิตรอดนั้น อาจหลงเหลือผลข้างเคียงฝังอยู่ในเนื้อตัวร่างกายของผู้เสียหาย และอาจแสดงออกได้หลายรูปแบบ ทั้งทางร่างกาย พฤติกรรม และสภาวะอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล เกร็ง หายใจตื้น หายใจไม่ออก หายใจถี่ ความคิดลบ แยกตัวโดดเดี่ยว ใช้ยาเสพติด การกินผิดปกติ ละเมอฝันร้าย เกร็ง การพูดผิดปกติ เห็นภาพหลอน ทำลายข้าวของ ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย พฤติกรรมทางเพศเปลี่ยน ย้ำคิดย้ำทำ พูดวกวน

นอกจากนี้ เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงมักมีพัฒนาการช้า ส่วนผู้ใหญ่ก็อาจมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รู้สึกไร้ค่า ขาดการดูแลตัวเอง รวมถึงอาการปวดตามเนื้อตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ปวดหัว ก็เป็นอาการทางกายที่อาจเป็นผลมาจากทรอม่าได้เช่นเดียวกัน

การเยียวยาตนเองสำหรับผู้ที่มีภาวะทรอม่าต้องใช้เวลา และแต่ละคนจะใช้เวลาไม่เท่ากัน อาการฝันร้าย เห็นภาพเหตุการณ์เดิมซ้ำ ๆ รู้สึกมึนชา ขาดสมาธิ เหงื่ออกง่าย หัวใจเต้นเร็ว ทั้งหมดนี้เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งผู้เสียหายแต่ละคนอาจมีอาการต่างกันออกไป หรืออาจไม่มีอาการทรอม่าเลยก็เป็นได้

ภาวะซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าอาจเป็นผลที่ตามมาของการถูกกระทำความรุนแรง และอาจเป็นอาการหนึ่งของบาดแผลทางใจและภาวะเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง ลักษณะอาการของภาวะซึมเศร้าที่ควรดูแลและเสนอแนะให้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ มีดังนี้

อาการทางกาย

  • เบื่ออาหาร หรืออยากอาหารมากกว่าปกติ
  • นอนไม่หลับ หรือนอนมากจนเกินไปแต่ยังคงรู้สึกว่านอนไม่เต็มอิ่ม
  • เหนื่อย เพลีย ไม่มีแรง
  • เชื่องช้า หรือกระสับกระส่าย

ความคิด

  • มองว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครช่วยได้ คิดว่าคงไม่มีใครรักและสนใจอยากช่วยเหลือ คิดว่าตนเองเป็นคนผิด
  • ไม่มีสมาธิ ลังเลเสมอเมื่อต้องตัดสินใจ
  • มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองเพื่อลงโทษตัวเอง หรือเพื่อสัมผัสถึงการหลั่งสารความสุข
  • มีความคิดอยากตาย

อารมณ์

  • เศร้าหรือหงุดหงิดเกือบทั้งวัน
  • รู้สึกไม่มีความสุขกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

ภาวะวิตกกังวล

ภาวะวิตกกังวลสามารถแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ และหลายระดับความรุนแรง ผู้เสียหายบางคนอาจมีภาวะวิตกกังวลแบบทั่วไป หรือมีภาวะหวาดกลัวการพลัดพรากแยกจาก (Separation Anxiety Disorder) ไปจนถึงกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety) และอาการหวาดกลัวบางสิ่งอย่างเฉพาะเจาะจง (Specific Phobia)

หากผู้เสียหายมีความรู้สึกกลัวหรือกำลังหลีกเลี่ยงบางสิ่งบางอย่าง หรือกระทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ โดยไม่สามารถอธิบายได้ ผู้ปฏิบัติงานควรเข้าใจและไม่ฝืนให้ผู้เสียหายเผชิญหน้ากับความกังวลนั้นในทันที หากอาการต่าง ๆ ดังกล่าวมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตหรือการเข้าถึงสิทธิ ผู้ปฏิบัติงานอาจเสนอแนะบริการช่วยเหลือทางสุขภาพจิตเพื่อให้ผู้เสียหายพิจารณาเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป

ภาวะวิตกกังวลอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ ดังภาพต่อไปนี้


(4) เรียบเรียงจากเนื้อหาการอบรมงานคุ้มครองเด็ก. จัดโดย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ปี 2564.

(5) World Health Organization. (‎2003)‎. Guidelines for medico-legal care of victims of sexual violence. World Health Organization. สืบค้นจาก https://apps.who.int/iris/handle/10665/42788

ภาพประกอบบทเรียน



สารบัญ

แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ผลกระทบของความรุนแรงต่อสมองของผู้เสียหาย สมองในขณะถูกกระทำความรุนแรง สภาวะทางสุขภาพจิตอื่นๆ การดูแลสุขภาพจิตใจในสภาวะฉุกเฉิน การฟัง เตรียมตัวก่อนการรับฟัง การรับฟัง การสะท้อนความรู้สึก Reflection of feelings การบอกจุดแข็งและข้อจำกัด เทคนิคการฟังอย่างง่าย ทบทวนหลักการรับฟัง การประเมินความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงคืออะไร การประเมินความเสี่ยงในกรณีความรุนแรงในครอบครัว การประเมินความเสี่ยงในกรณีความรุนแรงในครอบครัว การระบุสถานการณ์ที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้เสียหาย การวางแผนความปลอดภัย การวางแผนเพื่อความปลอดภัย เครื่องมืออื่น ๆ ในการแสวงหาข้อมูลประกอบการวางแผนช่วยเหลือผู้เสียหาย การแสวงหาข้อเท็จจริง/การสืบค้นข้อเท็จจริง (Fact finding) การทำแผนผังครอบครัว และแผนผังนิเวศน์ ลำดับเหตุการณ์ในชีวิต สรุปแนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว