< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 2 - การฟัง

บทเรียนที่ 4 - การบอกจุดแข็งและข้อจำกัด


การบอกจุดแข็งและข้อจำกัด(9)

การบอกจุดแข็ง เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า การระบุอำนาจภายในที่ผู้ปฏิบัติงานสังเกตเห็นในตัวผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายได้เห็นถึงข้อดีหรือความเข้มแข็งที่ตนมีอยู่ เป็นการแสดงการสนับสนุน เห็นด้วย และชื่นชมในสิ่งที่ผู้รับการปรึกษาคิด รู้สึก และปฏิบัติ เพื่อให้เกิดกําลังใจในการเผชิญปัญหา และแก้ปัญหา แต่ต้องระวัง ไม่แสดงออกมากจนกลายเป็นการยกย่องหรือเยินยอเกินจริง ผู้ปฏิบัติงานควรสะท้อนจากสิ่งที่รับรู้หรือเห็นในตัวผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ควรเยินยอ ให้กำลังใจ หรือให้ความหวังที่เกินความเป็นจริง

คำที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่งคือ “จุดอ่อน” “ข้อด้อย” หรือ “ความอ่อนแอ” คำที่ควรใช้แทนคือ “ข้อท้าทาย” หรือ “ข้อจำกัด” เนื่องจากคำในกลุ่มแรกนั้นให้ความรู้สึกว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นคำในเชิงลบ แต่ข้อท้าทายและข้อจำกัดนั้นให้ความรู้สึกที่สามารถก้าวข้ามผ่านได้ในวันหนึ่ง หรือไม่ใช่เรื่องผิดที่จะมีข้อจำกัดบางอย่าง

การตั้งคำถาม (Questioning)

การตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ควรทำในลำดับท้ายๆ ระหว่างการรับฟัง โดยส่วนมากแล้วการรับฟัง สะท้อน และสรุปความที่ดี ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และความรู้สึกถึงอำนาจที่เท่าเทียมกันระหว่างการฟัง จะช่วยให้ผู้เสียหายได้ระบายข้อมูลมากมายออกมาอยู่แล้วโดยแทบไม่ต้องตั้งคำถามเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องถามเพื่อแสวงหาข้อมูลที่จำเป็นเพื่อนำมาวางแผนการปฏิบัติงาน จึงควรทำความรู้จักกับการตั้งคำถาม 2 ประเภท ดังนี้

  1. คำถามปลายปิด (Closed question) หมายถึง คําถามที่กําหนดทิศทางในการตอบไว้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นคําถามที่ลงท้ายว่า “ใช่ไหม” เป็นคําถามที่ให้เลือกตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นคําถามที่ต้องการคำตอบเป็นข้อมูลเฉพาะเจาะจงในบางเรื่อง โดยคาดหวังให้ผู้รับการปรึกษาตอบ สั้นๆ ไม่ต้องใช้เวลาคิดมากนัก คำถามประเภทนี้เป็นคำถามที่ควรหลีกเลี่ยงหรือใช้ให้น้อยที่สุดในระหว่างการรับฟังในกระบวนการให้การปรึกษา เนื่องจากเมื่อถูกตั้งคำถามแบบนี้ ผู้เสียหายอาจรู้สึกว่ากำลังถูกบีบบังคับให้ให้ข้อมูลหรือเล่าเรื่องราวที่เขาไม่พร้อมที่จะพูดถึง อาจทำให้ผู้รับการปรึกษารู้สึกเหมือนถูกกระทำซ้ำ หรือ Re-traumatized และอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย
  2. คำถามปลายเปิด (Open-ended question) หมายถึง คำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้รับการปรึกษาตอบได้อย่างอิสระ หากจำเป็นต้องถามคำถาม ผู้ปฏิบัติงานควรถามคำถามปลายเปิด เช่น "ความรู้สึกนี้มาจากสาเหตุใด"

นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานควรหลีกเลี่ยงคำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม…?” เพราะคำถามทำไมมักมีนัยของการตัดสิน ตำหนิ หรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ถามถึง เช่น “ทำไมหนูถึงไม่ยอมบอกพ่อแม่ว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น?” ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องสอบถามถึงสาเหตุในบางเรื่อง ให้ผู้ถามลองปรับวิธีการถาม เช่น “หากหนูสะดวกใจ ลองเล่าให้ฟังได้ไหมว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้หนูไม่ได้บอกพ่อแม่ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น?”

ทั้งนี้ การรับฟังในกระบวนการปรึกษา คือการสร้างพื้นที่หรือสภาวะที่ปลอดภัยให้ผู้เสียหายได้เล่าเรื่องราวภายในใจของตนเอง ซึ่งจะแตกต่างจากการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงบางอย่าง ในกรณีหลัง ผู้ปฏิบัติงานอาจจำเป็นต้องตั้งคำถามที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมควรทำก็ต่อเมื่อผู้เสียหายอยู่ในสภาวะที่รู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ และมีความพร้อมที่จะให้ข้อมูลแล้วเท่านั้น

การสรุปความก่อนจบการรับฟัง

หมายถึง การที่ผู้ให้การปรึกษาสรุปเรื่องสําคัญที่ได้จากการให้การปรึกษา อาจใช้ในระหว่างการรับฟัง หรือในช่วงก่อนการยุติการให้การปรึกษา เพื่อให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความกระจ่างในตนเอง และทําให้มองเห็นแนวทางการทำงานขั้นต่อไปในทิศทางที่ชัดเจนขึ้น


(9) เรียบเรียงจากเนื้อหาการอบรม “การดูแลสุขภาวะสำหรับผู้ปฏิบัติงานความเป็นธรรมทางเพศ”. อวยพร เขื่อนแก้ว วิทยากร. จัดโดย ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม เชียงใหม่. ปี 2564.




สารบัญ

แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ผลกระทบของความรุนแรงต่อสมองของผู้เสียหาย สมองในขณะถูกกระทำความรุนแรง สภาวะทางสุขภาพจิตอื่นๆ การดูแลสุขภาพจิตใจในสภาวะฉุกเฉิน การฟัง เตรียมตัวก่อนการรับฟัง การรับฟัง การสะท้อนความรู้สึก Reflection of feelings การบอกจุดแข็งและข้อจำกัด เทคนิคการฟังอย่างง่าย ทบทวนหลักการรับฟัง การประเมินความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงคืออะไร การประเมินความเสี่ยงในกรณีความรุนแรงในครอบครัว การประเมินความเสี่ยงในกรณีความรุนแรงในครอบครัว การระบุสถานการณ์ที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้เสียหาย การวางแผนความปลอดภัย การวางแผนเพื่อความปลอดภัย เครื่องมืออื่น ๆ ในการแสวงหาข้อมูลประกอบการวางแผนช่วยเหลือผู้เสียหาย การแสวงหาข้อเท็จจริง/การสืบค้นข้อเท็จจริง (Fact finding) การทำแผนผังครอบครัว และแผนผังนิเวศน์ ลำดับเหตุการณ์ในชีวิต สรุปแนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว