คอร์ส แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว
โมดูลที่ 2 - การฟัง
บทเรียนที่ 1 - เตรียมตัวก่อนการรับฟัง
เตรียมตัวก่อนการรับฟัง
การเตรียมตัวเองของผู้ฟัง
ทักษะการยืนหยัดมั่นคง (grounding)
ก่อนเริ่มปฏิบัติงานในประเด็นที่เต็มไปด้วยอารมณ์และเรื่องราวความรุนแรง ผู้ปฏิบัติงานควรมีการเตรียมตัวเอง และตรวจสอบความรู้สึกของตนเองเสมอว่าอยู่ในสภาวะที่ปลอดโปร่ง และสามารถทำงานได้อย่างมีสมาธิ เทคนิคในการเตรียมอารมณ์จิตใจของตนเองอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่สิ่งสำคัญคือผู้ปฏิบัติงานควรมีทักษะในการยืนหยัดมั่นคงอยู่กับปัจจุบัน หรือ Grounding เพื่อคงไว้ซึ่งวิจารณญาณ และความมั่นคงในจิตใจระหว่างการฟังเรื่องราวของผู้เสียหายที่อาจเต็มไปด้วยอารมณ์และรายละเอียดของความรุนแรง เทคนิคการ Grounding นี้ยังสามารถแนะนำให้กับผู้เสียหายเพื่อรับมือกับสภาวะอารมณ์ที่ท่วมท้นได้อีกด้วย
Grounding คือการรับรู้ยืนหยัดอยู่กับปัจจุบัน ทักษะนี้ตัวผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องมี และสามารถช่วยนำผู้เสียหายให้ค่อยๆ ฝึกฝนได้ ทักษะนี้จะยิ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้เสียหายที่ต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะต้องมีการสอบปากคำ ซักถาม รวมถึงการไต่สวนในศาล ทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจแก่ผู้เสียหาย
การ Grounding จะช่วยให้เราเชื่อมต่อกับ “ที่นี่ เวลานี้” โดยใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ในการรับรู้ พื้นฐานที่สุดของการ Grounding คือ การกลับมาตั้งหลักที่ร่างกาย ยกตัวอย่างในกรณีที่เรามีปัญหาในการปฏิบัติงานหน้างาน ทำให้เรารู้สึกโกรธ ใจของเราเต้นเร็ว สมองเต็มล้นไปด้วยอารมณ์และความคิดพลุ่งพล่าน สิ่งที่เราสามารถทำได้ในนาทีนั้น คือการยืนหรือนั่งให้เท้าทั้งสองข้างวางบนพื้น และรับรู้ถึงสัมผัสระหว่างเท้าและพื้นที่รองรับเราอยู่ รับรู้ถึงขาหรือสะโพกที่ตั้งมั่นรองรับร่างกาย ยืนหรือนั่งให้มั่นคงแล้วค่อยๆ หายใจเข้าออกลึกและช้า เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายและเพิ่มอ็อกซิเจนเข้าสู่สมองและร่างกาย รวมไปถึงยอมรับกับตนเองในใจว่าฉันกำลังโกรธ ฉันเข้าใจว่าความโกรธนี้มีที่มาจากอะไร และค่อยๆ กลับมารับรู้ว่า ตอนนี้ฉันกำลังทำหน้าที่อะไร กลับมาใช้งานสมองส่วนหน้าเพื่อคิดพิจารณาก่อนตอบสนองอะไรออกไป
เทคนิคการช่วยเหลือผู้เสียหายในการ Grounding(7)
ทักษะการยืนหยัดมั่นคงจำเป็นต้องฝึกฝนและทำอย่างสม่ำเสมอ นอกจากตัวผู้ปฏิบัติงานจะนำมาใช้เองแล้ว ยังสามารถแนะนำให้ผู้เสียหายหรือผู้ร่วมงานทดลองฝึกหัดและยืนหยัดมั่นคงท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดได้อีกด้วย โดยมีเทคนิคต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ดังนี้
- ไม่ควรแนะนำให้ผู้เสียหายหลับตา เนื่องจากผู้เสียหายกรณีความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศมักมีอาการ PTSD ที่อาจทำให้นึกถึงเหตุการณ์เดิมซ้ำๆ การหลับตาอาจทำให้ภาพของอดีตผุดขึ้นมาได้มากขึ้น การลืมตาจะช่วยให้อยู่กับปัจจุบันได้ดีกว่า
- รับรู้ถึงเสียง เช่น เสียงต่างๆ ในบรรยากาศรอบตัว เสียงนาฬิกา เสียงคอมเพรสเซอร์แอร์ เสียงลม เสียงนกร้อง และเสียงเคลื่อนไหวของสายลมและการขยับของใบไม้ หรือจัดเตรียม Playlist เสียงที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
- รับรู้ถึงสัมผัสต่างๆ เช่น สัมผัสของเสื้อผ้าบนผิวหนัง อุณหภูมิของอากาศ เก้าอี้ที่เรานั่งอยู่ พื้นที่เท้าเราเหยียบอยู่ หรือการจับถือของบางอย่างที่ให้ความรู้สึกที่ปลอดภัย เช่น ลูกบอลสำหรับบีบเพื่อผ่อนหลาย หินที่ให้ความรู้สึกเย็นหรืออุ่น หรือตุ๊กตาที่นุ่มนวล
- รับรู้ผ่านกลิ่น เช่น กลิ่นหอมที่ได้กลิ่นแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เทียนหอม ยาดม หรือดื่มชาที่ช่วยให้เราได้รับรู้ถึงกลิ่นระหว่างการดื่ม
- รับรู้ผ่านรสชาติ เช่นขนมขบเคี้ยว ของหวาน ลูกอม
- พาผู้เสียหายค่อยๆ หายใจในจังหวะเดียวกันกับเรา อาจหายใจเข้าทางจมูกแล้วหายใจออกทางปาก เพื่อผ่อนคลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
การเตรียมพื้นที่ในการรับฟัง
- การทำงานกรณีความรุนแรงในครอบครัว ควรแยกรับฟังเฉพาะผู้เสียหายโดยไม่ให้มีสมาชิกคนอื่นในครอบครัวร่วมอยู่ในพื้นที่พูดคุยนั้น หากผู้เสียหายเป็นเด็กหรือเยาวชนที่มีผู้ไว้ใจอยู่ร่วมด้วย ผู้ไว้ใจควรนั่งเยื้องอยู่ทางด้านหลัง และให้ผู้เสียหายเป็นผู้พูดหลักเท่านั้น
- เตรียมสถานที่ปิดที่ปลอดภัย ปราศจากการรบกวน เงียบสงบ และแจ้งแก่ผู้ร่วมปฏิบัติงานว่าไม่ควรเข้ามาในสถานที่นั้นระหว่างการพูดคุย
- ควรสอบถามผู้เสียหายว่ารู้สึกสะดวกใจและปลอดภัยในการพูดคุยกันในสถานที่ดังกล่าวหรือไม่
- เตรียมปัจจัยตอบสนองความต้องการพื้นฐานของผู้เสียหาย เช่น น้ำดื่ม สอบถามว่าผู้เสียหายทานอาหารมาแล้วหรือไม่ อากาศอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมไหม หรือเตรียมตัวช่วยระหว่างการพูดคุย เช่น สิ่งของที่ให้สัมผัสปลอดภัยสำหรับกอดหรือจับ ในกรณีเด็ก อาจมีการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สี ของเล่น
- ผู้ปฏิบัติงานควรพิจาณานั่งในบริเวณที่เสมอกันกับผู้เสียหาย ไม่สูงกว่าหรือต่ำกว่า เป็นเทคนิคหนึ่งของการใช้อำนาจร่วม
(7) เรียบเรียงจากเนื้อหาการอบรม “การดูแลสุขภาวะสำหรับผู้ปฏิบัติงานความเป็นธรรมทางเพศ”. อวยพร เขื่อนแก้ว วิทยากร. จัดโดย ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม เชียงใหม่ ปี 2564.