< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 2 - การฟัง

บทเรียนที่ 5 - เทคนิคการฟังอย่างง่าย


เทคนิคการฟังอย่างง่าย ประกอบด้วย 6 ข้อ ได้แก่

1. ฟัง โดยพยายามไม่ตั้งคำถาม

การฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่การฟังด้วยใจจริง ๆ โดยไม่ทำให้ผู้เสียหายที่ออกมาพูดหรือบอกเล่าเรื่องราวรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่กระทำซ้ำ มีจุดที่ต้องคำนึงถึงมากมาย ในส่วนของการตั้งคำถาม ระหว่างฟังเรามักเคยชินกับการถาม โดยคิดว่ามันเป็นการแสดงความสนใจ แต่ความจริงแล้วการถามควรเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะนึกถึงในขณะที่เรากำลังฟังอยู่ การถามอาจเป็นการฝืนให้ผู้ถูกกระทำต้องเล่าเรื่องที่เขาไม่พร้อมเล่า หรือทำให้เราเผลอเเสดงอคติทางเพศหรือกล่าวโทษเหยื่อโดยไม่รู้ตัว

2. ฟัง โดยไม่ตัดสิน

ในขณะที่เรากำลังฟังผู้เสียหายอยู่ อาจมีบางช่วงที่เราคิดแทนผู้เสียหาย เช่น เราอาจคิดไปว่าถ้าเป็นเรา เราจะไม่ทำแบบนั้น หรือถ้าเป็นเรา เราจะทำแบบนี้แทน และอาจนึกสงสัยในความสมเหตุสมผลของเรื่องราวที่ผู้เสียหายเล่า ซึ่งผู้ปฏิบัติงานอาจมีความคิดเช่นนี้ผุดขึ้นมาในระหว่างการฟัง แต่เราต้องระมัดระวังไม่พูดมันออกมา เพราะเรากำลังทำหน้าที่รับฟัง สิ่งที่เรากำลังฟังเป็นเพียงแค่ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งของความเจ็บปวดที่ผู้เสียหายเผชิญอยู่ เราไม่รู้รายละเอียดของเรื่องราวทั้งหมด จึงไม่ควรเอาประสบการณ์ของตัวเราเองไปตัดสินการกระทำหรือทางเลือกของผู้เสียหาย

3. ปล่อยให้ผู้เสียหายได้ร้องไห้

เมื่ออยู่ตรงหน้าคนที่กำลังร้องไห้ ปฏิกิริยาทั่วไปของคนเรามักจะเป็นการพูดปลอบโยนหรือเอาทิชชูใส่มือเขา การทำเช่นนี้อาจทำให้ผู้ที่กำลังร้องไห้คิดไปว่าเราต้องการให้เขาหยุดร้อง แต่อันที่จริงแล้ว นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ผู้เสียหายได้ยอมรับความเจ็บปวดที่สะสมอยู่ภายในและปล่อยให้ตัวเองได้ร้องไห้ออกมา ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจึงควรปล่อยให้ผู้เสียหายร้องไห้โดยไม่ขัดจังหวะ และอาจพูดเสริมว่า “ร้องไห้ได้ ไม่เป็นไร” หากผู้ปฏิบัติงานรู้สึกอึดอัดกับการที่ผู้เสียหายร้องไห้ ให้ใช้ทักษะ Grounding ที่กล่าวถึงข้างต้น โดยอาจกลับมารับรู้ลมหายใจ หรือรับรู้สัมผัสหรือบรรยากาศรอบตัวในขณะปัจจุบัน เพื่อปรับอารมณ์ให้พร้อมที่จะรับฟังและกลับมาอยู่กับเรื่องราวของผู้เสียหายต่อไป

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ไม่ใช่ผู้เสียหายทุกคนที่ต้องการการปลอบโยนโดยการสัมผัสเนื้อตัวร่างกาย เช่น โดยการโอบกอด หรือจับมือ โดยเฉพาะผู้เสียหายที่เคยถูกล่วงละเมิดทางร่างกายหรือทางเพศซึ่งอาจอยู่ในสภาวะเปราะบางและไม่ต้องการให้ใครมาสัมผัสร่างกาย ผู้ปฏิบัติงานจึงควรสังเกตท่าทีของผู้เสียหาย และใช้ความระมัดระวัง ไม่ไปสัมผัสร่างกายของผู้เสียหายโดยที่เขาไม่ได้แสดงท่าทีต้องการ รวมทั้งการหยิบยื่นกระดาษทิชชูหรือน้ำดึ่มให้ผู้เสียหาย อาจทำได้เมื่อสังเกตว่าอารมณ์ที่ท่วมท้นของผู้เสียหายเริ่มคลี่คลายลงแล้ว เช่น เมื่อเขาเริ่มร้องไห้น้อยลงและเงยหน้าขึ้นมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

4. อยู่ในความเงียบร่วมกับเขา

บ่อยครั้งที่ในระหว่างการเล่าเรื่องราว ผู้เสียหายอาจหยุดพูดและนิ่งเงียบไป ซึ่งความเงียบที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าผู้เสียหายหมดเรื่องราวที่จะเล่าหรือไม่อยากพูดต่อแล้ว แต่อาจหมายถึงการหยุดคิดเพื่อปะติดปะต่อหรือลำดับเรื่องราว การพยายามเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นคำพูด หรือการพยายามจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่ท่วมท้นขึ้นมา ในขณะเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติงานควรอยู่กับความเงียบและอารมณ์ความรู้สึกของผู้เสียหาย แทนที่จะตั้งคำถามหรือกระตุ้นให้ผู้เสียหายพูดต่อ หากผู้ปฏิบัติงานรู้สึกอึดอัดกับความเงียบที่เกิดขึ้น อาจใช้ทักษะ Grounding เพื่อช่วยคลี่คลายความอึดอัดและอยู่กับความเงียบได้อย่างสงบมั่นคงมากขึ้น และโดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่ออยู่ด้วยกันในความเงียบสักระยะหนึ่ง ผู้เสียหายมักจะเริ่มพูดต่อด้วยตัวเอง หรือในกรณีที่ผู้เสียหายแสดงท่าทีว่าไม่พร้อมจะพูดต่อ ผู้ปฏิบัติงานอาจเชื้อเชิญให้หยุดพักและกลับมาทำงานร่วมกันต่อเมื่อผู้เสียหายพร้อม

5. อย่าถามว่า “ทำไม…?”

“ทำไม” เป็นคำที่อาจทำให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกตำหนิหรือกล่าวโทษ เป็นคำที่ให้ความรู้สึกเชิงลบ ผู้ปฏิบัติงานอาจลองเปลี่ยนคำถามทำไมเป็น “อะไรเป็นสาเหตุให้คุณคิดแบบนั้น?” หรือ “มีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณ…? ซึ่งเป็นคำถามที่ช่วยหลีกเลี่ยงนัยของการตำหนิหรือกล่าวโทษ และเชื้อเชิญให้ผู้เสียหายได้ครุ่นคิดถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น

6. ยืนยันความจริงให้ผู้เสียหายฟัง

ถ้าผู้เสียหายมีท่าทีสับสนและกล่าวโทษตัวเอง โดยอาจพูดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตนเอง ผู้ปฏิบัติงานควรยืนยันกับผู้เสียหายว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของผู้เสียหาย นอกจากนี้ ผู้เสียหายบางคนอาจมีท่าทีไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้น แท้จริงแล้วถือว่าเป็นความรุนแรงหรือไม่ หรือเป็นสิ่งปกติที่พวกเขาควรยอมรับได้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติงานควรยืนยันกับผู้เสียหายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความรุนแรง เพื่อเป็นการช่วยระบุปัญหาให้ชัดเจน รวมทั้งช่วยยืนยันว่าความรู้สึกด้านลบหรือการตอบสนองของผู้เสียหายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาตอบสนองปกติของใครก็ตามที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงในชีวิต

เทคนิคการฟังเบื้องต้นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สามารถบ่มเพาะได้โดยการฝึกฝนและปฏิบัติซ้ำ ๆ โดยมีทักษะ Grounding เป็นพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งการรับฟังตามแนวทางที่กล่าวมานี้ จะเป็นพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปฏิบัติงานและผู้เสียหาย และจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานได้ทราบข้อเท็จจริงที่จำเป็นสำหรับการให้บริการได้โดยสะดวกใจทั้งสองฝ่ายมากขึ้น




สารบัญ

แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ผลกระทบของความรุนแรงต่อสมองของผู้เสียหาย สมองในขณะถูกกระทำความรุนแรง สภาวะทางสุขภาพจิตอื่นๆ การดูแลสุขภาพจิตใจในสภาวะฉุกเฉิน การฟัง เตรียมตัวก่อนการรับฟัง การรับฟัง การสะท้อนความรู้สึก Reflection of feelings การบอกจุดแข็งและข้อจำกัด เทคนิคการฟังอย่างง่าย ทบทวนหลักการรับฟัง การประเมินความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงคืออะไร การประเมินความเสี่ยงในกรณีความรุนแรงในครอบครัว การประเมินความเสี่ยงในกรณีความรุนแรงในครอบครัว การระบุสถานการณ์ที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้เสียหาย การวางแผนความปลอดภัย การวางแผนเพื่อความปลอดภัย เครื่องมืออื่น ๆ ในการแสวงหาข้อมูลประกอบการวางแผนช่วยเหลือผู้เสียหาย การแสวงหาข้อเท็จจริง/การสืบค้นข้อเท็จจริง (Fact finding) การทำแผนผังครอบครัว และแผนผังนิเวศน์ ลำดับเหตุการณ์ในชีวิต สรุปแนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว