< กลับหน้าโมดูล

คอร์ส แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

โมดูลที่ 2 - การฟัง

บทเรียนที่ 3 - การสะท้อนความรู้สึก Reflection of feelings


สังคมไทยมักไม่ได้มีการพูดถึงหรือแสดงออกเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกมากนัก การแสดงความรู้สึกมักถูกมองว่าเป็น “ความเป็นหญิง” ที่อ่อนแอ เปราะบาง และเปิดเผยจุดอ่อนมากจนเกินไป สังคมไทยมักให้คาดหวังให้คนเก็บซ่อนและกดทับความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกด้านลบ

การรับรู้ความคิดและอารมณ์ทั้งบวกและลบ นำไปสู่สุขภาวะที่ดี ทำให้สามารถสื่อสารอารมณ์และความต้องการออกมาได้ นำไปสู่การจัดการอารมณ์นั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ผู้ทำงานอาจช่วยเหลือผู้เสียหายระหว่างการรับฟังโดยการช่วยกลั่นกรองความคิดออกมาเป็นชื่ออารมณ์ที่ชัดเจน หรือช่วยผู้เสียหายทำความเข้าใจความเป็นมาของอารมณ์ความรู้สึกใหญ่ๆ ที่ความจริงแล้วเต็มไปด้วยอารมณ์มากมายอยู่เบื้องหลัง ยกตัวอย่างเช่น ความโกรธ ที่อาจมีความรู้สึกอื่น ๆ มากมายร่วมอยู่ด้วย เช่น ความกังวล ความเครียด ความน้อยใจ เป็นต้น

ในระหว่างกระบวนการทำงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้เสียหาย ผู้ทำงานควรมีการรับฟังผู้เสียหายอย่างสม่ำเสมอ ว่าผู้เสียหายมีความรู้สึกอย่างไรในแต่ละขั้นตอนกระบวนการ เพื่อช่วยให้ผู้เสียหายสามารถกลับมาย้อนทบทวนถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเองได้ ไม่กดทับอารมณ์ของตนเองไว้

การสะท้อนความรู้สึกเป็นการที่ผู้ให้การปรึกษาทวนสิ่งที่รับรู้มาจากผู้เสียหาย สรุปอารมณ์ของผู้เสียหายออกมาเป็นคำสั้น ๆ ช่วยให้ผู้เสียหายได้ทบทวนตนเอง เกิดความเข้าใจความรู้สึกของตนและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน การสะท้อนความรู้สึก แบ่งเป็น

  • การสะท้อนเฉพาะความรู้สึกเป็นคำสั้น ๆ โดยอาจศึกษาคำศัพท์เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกเพิ่มเติมจากภาพประกอบด้านล่าง
  • การสะท้อนความรู้สึกรวมทั้งเนื้อหาที่เป็นสาเหตุของการเกิดความรู้สึกนั้น (ใช้ทักษะการสรุปความและการสะท้อนเข้าร่วมด้วย)

ความรู้สึกต่างจากความคิด

การฟังที่ดีไม่ได้หมายถึงเฉพาะการฟังสิ่งที่ผู้เสียหายพูดออกมาเป็นคำพูดเท่านั้น แต่รวมถึงการสังเกตรับรู้ปฏิกิริยาทางร่างกาย สายตา และอากัปกิริยาต่างๆ ของผู้เสียหาย และเป็นการฟังไม่ใช่เพื่อรับรู้เฉพาะเรื่องราว แต่รับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เสียหายด้วย ทั้งนี้ เรามักสับสนระหว่างอารมณ์กับความคิด หลายครั้งเมื่อถามว่า “ตอนนี้รู้สึกอย่างไร” เราอาจเผลอตอบเป็นความคิดโดยอัตโนมัติ เช่น ตอบว่า “วันนี้ยุ่งมากเลย ที่ทำงานมีปัญหา” เมื่อพิจารณาจากประโยคนี้แล้ว อาจสะท้อนได้ว่าผู้พูดมีความรู้สึกเครียด เหนื่อยล้า กดดัน เป็นต้น

ในรูปตารางอารมณ์ ผู้ทำงานควรศึกษาและอาจเริ่มจากการตระหนักถึงอารมณ์ของตนเอง ทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเองในแต่ละวัน ลองสื่อสารเรื่องอารมณ์ของตนเองกับผู้ที่ไว้ใจ ฝึกทักษะการจับอารมณ์และนำไปใช้สะท้อนอารมณ์ให้ผู้เสียหายได้ยิน เพื่อช่วยให้เขาคลี่คลายความสับสน เข้าใจในตนเอง และมีภาวะที่เรียกว่า “ฟ้าใสไร้ก้อนเมฆ” ซึ่งหมายความว่าเป็นภาวะที่ปราศจากอาการความทุกข์หรืออาการทรอม่า หรือภาวะที่ได้รับรู้และจัดการกับอารมณ์ที่เป็นทุกข์แล้ว โดยเปรียบอาการทรอม่าเป็นเสมือนก้อนเมฆ ซึ่งเมื่อได้มีการจัดการกับความรู้สึกแล้ว ก้อนเมฆจะค่อยๆ หายไป ทำให้เห็นท้องฟ้าใส ซึ่งหมายถึงจิตใจที่สงบ โล่ง ซึ่งเป็นสภาวะจิตใจที่เอื้อต่อการฟื้นฟูอำนาจภายในตนเอง

ความรู้สึกและความต้องการ

ความรู้สึกต่างๆ เป็นผลมาจากการได้รับหรือไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการ การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ประเภทต่าง ๆ ว่าเป็นผลมาจากการที่ความต้องการได้รับหรือไม่ได้รับการตอบสนอง อาจทำให้ผู้ปฎิบัติงานสามารถช่วยผู้เสียหายให้ทบทวนย้อนกลับไปยังสาเหตุของอารมณ์ของตนเอง ว่าเกิดจากความต้องการใดที่ได้หรือไม่ได้รับการตอบสนองอย่างไร

ข้อควรระวัง

  • ในระหว่างการฟัง สะท้อน ระบุความรู้สึก หรือสรุปความ ไปจนถึงเทคนิคอื่นๆ นั้น จะต้องเป็นข้อมูลที่มาจากตัวผู้เสียหายเองเท่านั้น ไม่ควรเป็นการคาดเดาหรือตีความจากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานเอง
  • การที่ผู้ปฏิบัติงานอาจสะท้อนความรู้สึกหรือสรุปความคำพูดของผู้เสียหายคลาดเคลื่อนนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ในกรณีที่ไม่แน่ใจ ผู้ปฏิบัติงานสามารถสอบถามผู้เสียหายว่าสิ่งที่ได้พูดสะท้อนกลับไปนั้นถูกต้องหรือไม่ หรืออาจเว้นช่องว่างและให้เวลากับความเงียบ เพื่อให้ผู้เสียหายได้คิดทบทวนและบอกว่าสิ่งที่เราสรุปกลับไปให้เขาฟังนั้นตรงกับความรู้สึก ความคิด และประสบการณ์ของเขาหรือไม่ การให้เวลากับความเงียบจะช่วยให้ผู้เสียหายได้มีโอกาสสื่อสารกับตนเอง โดยผู้ปฏิบัติงานทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกเงาที่ใสสะอาด เพื่อสะท้อนให้ผู้เสียหายได้เห็นและเข้าใจสภาพปัญหาของตนเอง ได้คลี่คลายเมฆหมอกของความทุกข์ และอาจเริ่มมองเห็นหนทางที่จะก้าวออกจากปัญหาได้

ภาพประกอบบทเรียน ภาพประกอบบทเรียน



สารบัญ

แนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น สภาวะทางจิตใจ ปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ผลกระทบของความรุนแรงต่อสมองของผู้เสียหาย สมองในขณะถูกกระทำความรุนแรง สภาวะทางสุขภาพจิตอื่นๆ การดูแลสุขภาพจิตใจในสภาวะฉุกเฉิน การฟัง เตรียมตัวก่อนการรับฟัง การรับฟัง การสะท้อนความรู้สึก Reflection of feelings การบอกจุดแข็งและข้อจำกัด เทคนิคการฟังอย่างง่าย ทบทวนหลักการรับฟัง การประเมินความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงคืออะไร การประเมินความเสี่ยงในกรณีความรุนแรงในครอบครัว การประเมินความเสี่ยงในกรณีความรุนแรงในครอบครัว การระบุสถานการณ์ที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้เสียหาย การวางแผนความปลอดภัย การวางแผนเพื่อความปลอดภัย เครื่องมืออื่น ๆ ในการแสวงหาข้อมูลประกอบการวางแผนช่วยเหลือผู้เสียหาย การแสวงหาข้อเท็จจริง/การสืบค้นข้อเท็จจริง (Fact finding) การทำแผนผังครอบครัว และแผนผังนิเวศน์ ลำดับเหตุการณ์ในชีวิต สรุปแนวทางเบื้องต้นในการทำงานกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว